ม.ทักษิณ ลงนาม MOU ผนึกกำลังสภาเกษตรกรแห่งชาติ ครอบคลุม 5 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ยกระดับงานวิจัยทางการศึกษาและวิชาการด้านทรัพยากรการเกษตร

ม.ทักษิณ ลงนาม MOU ผนึกกำลังสภาเกษตรกรแห่งชาติ ครอบคลุม 5 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ยกระดับงานวิจัยทางการศึกษาและวิชาการด้านทรัพยากรการเกษตร

24 มี.ค. 66 762

วันนี้ (24 มีนาคม 2566) คณะเทคโนโลยีและการพัฒนาชุมชน จัดพิธีลงนามความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ระหว่างคณะเทคโนโลยีและการพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ และสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยทักษิณ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ คชภักดี คณบดีคณะเทคโนโลยีและการพัฒนาชุมชน ผู้แทนจากมหาวิทยาลัยทักษิณ และ นายศรัณย์พงศ์ ฟุ้งเกียรติ รองเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ ในฐานะผู้แทนจากสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือด้านวิชาการ พร้อมด้วยพยานลงนาม ประกอบด้วย นายสมคิด สงเนียม ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดพัทลุง นายประวิทย์ คงราช ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดสงขลา นายสุนันท์  พรหมอินทร์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดสตูล นายสมคิด สังขมณี ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดตรัง และ นายประทีป กลีบแก้ว ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดนครศรีธรรมราช นอกจากนี้ยังมีตัวแทนเกษตรกรจากจังหวัดภาคใต้ตอนบน สงขลา สตูล ตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช รวมทั้งผู้บริหาร อาจารย์ และนิสิต มหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามในครั้งนี้ ณ ห้องประชุมสภามหาวิทยาลัย  อาคารบริหารและสำนักงานกลาง มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง

     โดยภายในกิจกรรม มีการเสวนาเรื่อง “บทบาทของสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กับการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกร” โดย นาย ศรัณย์พงศ์ ฟุ้งเกียรติ รองเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ  ร่วมกับ คุณวิชิต นันทวรวัน ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดทำนโยบาย สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ

     สำหรับการลงนามความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ระหว่างคณะเทคโนโลยีและการพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ และสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อที่จะสร้างความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน ยกระดับงานวิจัยทางการศึกษาและวิชาการด้านทรัพยากรการเกษตรที่อยู่ในความสนใจของทั้งสองหน่วยงาน

- สนับสนุนการเรียนการสอน โดยสภาเกษตรกรแห่งชาติจัดหาและประสานงานนำเกษตรกร เข้าร่วมเรียนในหลักสูตรประกาศนียบัตรนวัตกรรมการเกษตรเพื่อเศรษฐกิจหมุนเวียน  หลักสูตรประกาศนียบัตรการพัฒนาคุณภาพการผลิตภายใต้มาตรฐานสินค้าเกษตร  และหลักสูตรระยะสั้น หลักสูตรผู้จัดการการผลิตสินค้าเกษตร BCG Model หลักสูตรละ 40 คน  ประกอบด้วยเกษตรกรจากจังหวัดพัทลุง จังหวัดสงขลา จังหวัดตรัง จังหวัดสตูล  และจังหวัดนครศรีธรรมราช

- ทำงานวิจัยร่วมกันเพื่อการพัฒนาความเข้มแข็งแก่เกษตรกร และองค์กรเกษตรกร ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง และเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากของเกษตรกรอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นแหล่งถ่ายทอดเทคโนโลยีและบริการวิชาการร่วมกัน ที่มุ่งเน้นการพัฒนา 3 เศรษฐกิจไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) มุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มของทรัพยากรชีวภาพ เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่าหรือยาวนานที่สุด และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) การพัฒนาเศรษฐกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และการร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลและเอกสารทางวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อไป 

 

ขอบคุณภาพ/ข่าว : คณะเทคโนโลยีและการพัฒนาชุมชน