คดี The ICON กับการลงทุนแบบไหน ธุรกิจขายตรง VS แชร์ลูกโซ่

คดี The ICON กับการลงทุนแบบไหน ธุรกิจขายตรง VS แชร์ลูกโซ่

24 ต.ค. 67 986

เชื่อว่าประชาชนทั้งประเทศคงให้ความสนใจเป็นอย่างมากกับคดีของ ดิไอคอนกรุ๊ป นับตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมาที่มีผู้เสียหายประเด็นการลงทุน มาร้องเรียนในรายการโหนกระแส จนกลายเป็นเหมือนคลื่นสึนามิซัดกระแทกไปในหลายวงการ พัดพาความเสียหายมารวมกัน กอปรกับคดีนี้มีดาราที่เป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย จึงยิ่งทำให้เป็นข่าวโด่งดังและประชาชนต่างก็ติดตามว่าสุดท้ายแล้วคดีนี้จะจบลงอย่างไร ผู้เขียนจึงขอสรุปประเด็นสาระสำคัญ ๆ ดังนี้

พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ได้รวบรวมพยานหลักฐานยื่นต่อศาลอาญารัชดา ออกหมายจับผู้ต้องหาในคดีบริษัทดิไอคอนกรุ๊ป ในวันที่ 16 ตุลาคม 2567 โดยจับกุมตัวจำนวน 18 หมายจับ ได้แก่ บอสพอล วรัตน์พล, บอสกันต์ กันตถาวร, บอสมิน พีชญา, บอสแซม ยุรนันท์, บอสปัน, บอสโอม, บอสวิน, บอสจอย, บอสอ๊อฟ, บอสแม่หญิง, บอสปีเตอร์, บอสเอก, บอสอูมมี่, บอสทอมมี่, บอสสวย, บอสโชดา, บอสป๊อบ, โค้ชแล็ป ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดยกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้สรุปข้อมูลการรับแจ้งความร้องทุกข์ในคดี ดิไอคอนกรุ๊ป ณ วันที่ 20 ตุลาคม 2567 รวมผู้เสียหายทั่วประเทศ 5,648 ราย ความเสียหายมูลค่า 1,611 ล้านบาท ตรวจยึดทรัพย์สินได้มูลค่า 225 ล้านบาท ทั้งนี้จำนวนผู้เสียหายยังคงทยอยเข้าแจ้งความเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จากการให้สัมภาษณ์ของอาจารย์ปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ตำแหน่งอัยการอาวุโส สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด ในรายการมีเรื่องอยากไลฟ์ของคุณจอมขวัญ ว่าเหตุผลที่ความผิดของ ดิไอคอนกรุ๊ป นั้นคือ “ข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน” ไม่ใช่ “ข้อหาแชร์ลูกโซ่” เพราะบริษัทจดทะเบียนในรูปแบบตลาดตรง (Direct Marketing) โดยมีการจำหน่ายสินค้าจริง อยู่ภายใต้การควบคุมของ “พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545” และ “พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560” แม้ในทางปฏิบัติบริษัทใช้วิธีการแบบขายตรง (Direct selling) ไม่ใช่แบบตลาดตรง (Direct Marketing) โดยการหลอกให้คนซื้อสินค้าทีละมาก ๆ และใช้วิธีการโน้มน้าวด้วยข้อมูลที่เป็นเท็จ ซึ่งอาจารย์ปรเมศวร์มองว่าหากมีการพิจารณาตัดสินโทษในข้อหาดังกล่าวแล้วมีโอกาสต้องถูกจำคุกสูงสุดไม่เกิน 20 ปีเลยทีเดียว

บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด (The iCon Group Company Limited) จดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เป็นบริษัทประกอบธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์รูปแบบการขายปลีกทางอินเตอร์เน็ต ก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2561 ด้วยทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท ก่อนเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 50,000,000 บาท เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2563 โดยมี บอสพอล-วรัตน์พล วรัทย์วรกุล เป็นผู้ก่อตั้ง, ผู้ถือหุ้นใหญ่ (75%), ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปัจจุบันจำหน่ายอาหารเสริมเพื่อสุขภาพและความงามผ่านตัวแทนจำหน่าย

สินค้ารายการแรกที่เริ่มจำหน่ายคืออาหารเสริม Boom Collagen ต่อมาจึงจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมอื่นๆ โดยใช้ตราสินค้า Boom และต่อยอดไปจำหน่ายเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมความงาม ปัจจุบันสินค้าของดิไอคอน มีประมาณ 14 ผลิตภัณฑ์ ตามที่ระบุบนหน้าเว๊ปไซต์ของบริษัท

ดิไอคอนกรุ๊ปมีบริษัทย่อยและบริษัทร่วมที่ถือหุ้นคือ (1) บริษัท ดิไอคอนการบัญชี จำกัด (ถือหุ้น 50%) ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการบัญชี (2) บริษัท ดิ ไอคอน เวลเนส จำกัด (ถือหุ้น 99.98%) ประกอบธุรกิจคลินิกโรคเฉพาะทาง และ (3) บริษัท เฟรนด์ชิป ฟูลฟิลเม้นท์ จำกัด (ถือหุ้น 33%) ประกอบธุรกิจขนส่งและขนถ่ายสินค้า

บอสพอลเปิดเผยจำนวนสมาชิกในระดับต่างๆ ของการดำเนินธุรกิจว่า บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด มีจำนวนสมาชิก 368,257 ราย โดยแบ่งเป็น (1) ร้านค้าปลีก Distributor: 285,833 ราย (2) หัวหน้าทีม Supervisor: 43,976 ราย (3) ตัวแทนจำหน่าย Dealer: 31,972 ราย และ (4) ตัวแทนจำหน่าย (เล็ก) Mini Dealer: 6,476 ราย

ความแตกต่างของธุรกิจขายตรงอื่นในไทย (Direct selling) และธุรกิจขายตรงแบบดิไอคอนนั้น ต่างกันตรงที่ ธุรกิจขายตรงอื่น ๆ จะเน้นไปที่การพัฒนาตัวสินค้าให้สินค้ามีคุณภาพ เป็นที่รู้จัก เน้นให้มีการจ่ายค่าสมัครสมาชิกในราคาไม่แพง เพื่อให้สมาชิกมาซื้อสินค้าในราคาพิเศษ ถ้าสมาชิกเห็นว่าสินค้าใช้ดีแล้วเกิดการบอกต่อปากต่อปาก ต่างกับวิธีการขายของดิไอคอน ที่แม้ว่าจะมีสินค้า แต่บริษัทไม่ได้เน้นพัฒนาสินค้า แต่เน้นสร้างเครือข่ายหาสมาชิก หรือที่เรียกว่า ดาวน์ไลน์ และการสร้างเครือข่ายนั้น ทำได้โดยการสร้างความน่าเชื่อถือและสร้างภาพลักษณ์เพื่อชักจูงคน 

ธุรกิจขายตรง (Direct Selling) คือ การขายและการทำตลาดให้กับผู้บริโภคโดยตรง เรียกได้ว่าเป็นการขาย "แบบตัวต่อตัว" ณ ที่อยู่อาศัย หรือสถานที่ทำงานของผู้บริโภค โดยผ่านตัวแทนขายตรงหรือผู้จำหน่ายอิสระ โดยวิธีการขายตรงในประเทศไทยมีอยู่ 2 รูปแบบ คือ

1) ขายตรงแบบชั้นเดียว (Single-level marketing) หมายถึง ผู้จำหน่ายจะเน้นการนำสินค้าไปขายให้กับผู้บริโภค เพื่อสร้างผลงานตามยอดขายที่บริษัทกำหนด โดยได้ผลตอบแทนตามเกณฑ์ของผลงาน จากยอดขายสินค้าตามที่บริษัทกำหนด

2. ขายตรงแบบหลายชั้น (Multi-level marketing) หมายถึง การสร้างเครือข่ายผู้ทำธุรกิจหรือสมาชิก โดยจะมีรายได้จากยอดจำหน่ายสินค้ารวมจากผลงานของตัวเองและทีมงาน

แชร์ลูกโซ่ (Pyramid Scheme หรือ Ponzi Scheme) เป็นกลโกงที่หลอกให้ประชาชนลงทุนหรือซื้อสินค้า โดยอ้างว่า จะได้รับกำไรจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว มักจะจ่ายเงินให้จริงในระยะแรกเพื่อให้หลงเชื่อ ทั้งที่จริงแล้วไม่ได้ประกอบธุรกิจอะไรเลย “เพียงแค่นำเงินของผู้ที่ลงทุนทีหลังมาจ่ายให้กับผู้ที่ลงทุนก่อนเท่านั้น” เมื่อถึงจุดที่ไม่สามารถหาสมาชิกใหม่ได้เพิ่มจนไม่สามารถจ่ายเงินได้ หรือได้เงินจำนวนมากเพียงพอแล้ว ก็จะหลบหนีไปสร้างความเสียหายให้แก่ประชาชนเป็นจำนวนมาก โดยแชร์ลูกโซ่ มักแอบอ้างสินค้าหรือบริการต่าง ๆ รวมทั้ง หุ้น คริปโท หรือ สินทรัพย์ดิจิทัล ด้วย หากถูกชักชวนลงทุนต้องระมัดระวังให้มาก และควรลงทุนกับผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น

ลักษณะของธุรกิจขายตรง

1. ค่าธรรมเนียมในการสมัครต่ำ เงินค่าสมัครจ่ายเพื่อคู่มือความรู้ เอกสารฝึกอบรม และสินค้าตัวอย่างเท่านั้น

2. จำหน่ายสินค้าหลากหลายชนิดที่มีคุณภาพสูง มียอดขายมาจากการจำหน่ายสินค้าได้ซ้ำอีกเรื่อยๆ และความพึงพอใจของลูกค้าเป็นสำคัญ บริษัทจะทุ่มเทเงินจำนวนมากเพื่อการวิจัยค้นคว้าและพัฒนาคุณภาพสินค้า

3. รับประกันคุณภาพความพอใจของสินค้าโดยการคืนเงิน ลูกค้าสามารถเปลี่ยนหรือคืนสินค้ากับบริษัทได้เมื่อต้องการภายในระยะเวลาที่เหมาะสม

4. ตระหนักถึงการดำเนินธุรกิจระยะยาว สิ่งนี้สำคัญมากเพราะบริษัทมีความรับผิดชอบต่อผู้ขายซึ่งเป็นผู้ที่ดำเนินธุรกิจอย่างแท้จริง

5. การจ่ายผลตอบแทนรายได้และตำแหน่ง จะขึ้นอยู่กับการทำงานของผู้ขาย นั่นหมายถึงรายได้จะมาจากยอดขายที่ขายสินค้าได้

6. การก่อตั้งธุรกิจขึ้นอยู่กับการขายสินค้าคุณภาพ ซึ่งคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป

7. มีผู้ขายอิสระที่อาศัยการขายสินค้าเพื่อสร้างรายได้

8. มีกฎระเบียบที่เข้มงวดในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะมีข้อห้ามมิให้ผู้ขายเก็บตุนสินค้า

9. ผู้ขายจะเน้นการขายสินค้าและบริการ

10. ธุรกิจถูกต้องตามกฎหมายและเป็นการขายสินค้าอีกรูปแบบหนึ่ง ที่นอกเหนือจากการขายตามห้าง ซึ่งผู้บริโภค นักขายตรง และบริษัทขายตรงก็ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมาย

ลักษณะของธุรกิจแชร์ลูกโซ่

1. รายได้หลักมาจากการชักชวนคน / ระดมเครือข่ายสมาชิก / แทนการขายสินค้า

2. จ่ายค่าสมัครและบังคับซื้อสินค้าราคาแพงหรือจำนวนมากเกินความจำเป็นในการบริโภค

3. ไม่มีการรับประกันคุณภาพสินค้า

4. เมื่อสมาชิกต้องการลาออก ไม่สมารถคืนสินค้าได้

5. แผนการจ่ายผลตอบแทนดีเลิศอย่างเหลือเชื่อ (ไม่น่าเชื่อว่าลงทุนต่ำ ไม่ต้องทำงาน แต่รวยเร็ว)

6. เน้นการหาสมาชิกใหม่ให้มาร่วมลงทุนแทนการให้ความรู้เรื่องคุณภาพและการนำสินค้าไปสู่ผู้บริโภค

7. เน้นการจูงใจสมาชิกซื้อสินค้าจำนวนมากเกินความจำเป็นสำหรับการบริโภค

8. ไม่ยึดมั่นในหลักการและจรรยาบรรณของนักขายตรงที่ดี หลบเลี่ยงกฎหมาย

9. ดำเนินธุรกิจในลักษณะหลบเลี่ยงกฎหมาย

 

***การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ที่ต้องการลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข นโยบายการลงทุน ผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน***

 

ผู้เขียน : ผศ.บุษกร ถาวรประสิทธิ์ | ดร.อับดุลฮากิม มะดีเยาะ อาจารย์ประจำหลักสูตรเศรษฐศาสตรบัณฑิต คณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยทักษิณ

ข้อมูลจาก : กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI), ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, The Standard, กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB), มีเรื่องอยากไลฟ์

 

#TheICON #ธุรกิจ #ธุรกิจขายตรง #แชร์ลูกโซ่ #คดีดัง #การลงทุน #TSUNews #สื่อสารสาธารณะ #knowledgeSharing #คณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ #มหาวิทยาลัยทักษิณ