พิธีพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา 2561 และ 2562 มหาวิทยาลัยทักษิณ

พิธีพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา 2561 และ 2562 มหาวิทยาลัยทักษิณ

14 ก.ค. 65 2721
     สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยทักษิณ ประจำปีการศึกษา 2561-2562  
     เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม 2565 เวลา 09.30 น. ณ หอประชุมปาริชาต มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยทักษิณ ประจำปีการศึกษา 2561-2562 ณ หอประชุมปาริชาต มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานเกียรติบัตรเมธาจารย์แด่พระครูประยุต ธรรมธัช ในการนี้สภามหาวิทยาลัยทักษิณ ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จำนวน 2 ราย ดังรายนามต่อไปนี้
1. ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาบริหารการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2561 แก่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ไพโรจน์ อินทรศิริสวัสดิ์
2. ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการพัฒนาที่ยั่งยืน ประจำปีการศึกษา 2562 แก่ศาสตราจารย์ ดร. จรัญ จันทลักขณา
และพระราชทานเกียรติบัตรให้แก่อาจารย์ตัวอย่างและบุคลากรตัวอย่างของมหาวิทยาลัยทักษิณ จำนวน 7 ราย ดังนี้
1. อาจารย์จิราพร คงรอด บุคลากรตัวอย่างด้านการเรียนการสอน ปีการศึกษา 2561
2. รองศาสตราจารย์ ดร.สมัคร แก้วสุกแสง บุคลากรตัวอย่างด้านการวิจัย ปีการศึกษา 2561
3. อาจารย์ ดร.พลากร บุญใส บุคลากรตัวอย่างด้านการบริการวิชาการ ปีการศึกษา 2561
4. นางอุทัยวรรณ จันทรโชติ บุคลากรตัวอย่าง สายสนับสนุน ปีการศึกษา 2561
5. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัจฉรัตน์ สุวรรณภักดี บุคลากรตัวอย่างด้านการเรียนการสอน ปีการศึกษา 2562
6. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุติมา แก้วพิบูลย์ บุคลากรตัวอย่างด้านการวิจัย ปีการศึกษา 2562
7. อาจารย์บุญเรือง ขาวนวล บุคลากรตัวอย่างด้านการบริการวิชาการ ปีการศึกษา 2562
     จากนั้น พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาประจำปีการศึกษา 2561-2562 ระดับปริญญาเอก โท และตรี จำนวนรวม 3,537 คน แบ่งเป็นประจำปีการศึกษา 2561 จำนวน 1,762 คน ประจำปีการศึกษา 2562 จำนวน 1,773 คน โดยแบ่งเป็น ระดับปริญญาเอก จำนวน 13 คน ระดับปริญญาโท จำนวน 177 คน และระดับปริญญาตรี จำนวน 3,345 คน ปัจจุบันมหาวิทยาลัยทักษิณ มี 2 วิทยาเขต ได้แก่ วิทยาเขตพัทลุง มี 2 แห่ง คือ ที่ตำบลบ้านพร้าว อำเภอป่าพะยอม และตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง และวิทยาเขตสงขลา มี 2 แห่ง คือ ที่ตำบลเขารูปช้าง และตำบลเกาะยอ อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา ที่ผ่านมาได้ดำเนินงานตามพันธกิจหลักของมหาวิทยาลัย จนเกิดความก้าวหน้าเรื่อยมา
     ในการนี้ พระราชทานพระราโชวาทแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยทักษิณ ประจำปีการศึกษา 2561 ความว่า “เกียรติและความสำเร็จที่บัณฑิตได้รับนี้ เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า บัณฑิตได้ศึกษาเล่าเรียนมาด้วยความวิริยอุตสาหะ จึงนับว่าได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นผู้ศึกษาเล่าเรียน อย่างครบถ้วนบริบูรณ์แล้ว อย่างไรก็ตาม บัณฑิตทุกคนยังมีหน้าที่สำคัญอีกประการหนึ่ง อันพึงระลึกไว้เป็นนิตย์ คือหน้าที่ในฐานะที่เป็นพลเมืองของประเทศ อันได้แก่การดำรงตนเป็น พลเมืองดี ผู้ที่เป็นพลเมืองดีนั้น หมายถึงผู้ที่ประพฤติตนปฏิบัติงานเป็นประโยชน์และเป็นธรรม ทั้งต่อตนเองและส่วนรวม การจะทำให้ได้ดังที่กล่าว ต้องอาศัยคุณธรรมเป็นเครื่องกำกับ ความคิดจิตใจ ได้แก่ คารวธรรม สามัคคีธรรม และปัญญาธรรม คารวธรรม หมายถึงความเคารพ คือต้องรู้จักเคารพตนเอง เคารพผู้อื่น เคารพกฎกติกาของสังคม และเคารพ สิ่งที่ดีงามถูกต้อง สามัคคีธรรม หมายถึง ความพร้อมเพรียงปรองดองกัน คือต้องรู้จัก เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ร่วมแรงร่วมใจกันปฏิบัติสิ่งที่พิจารณาแล้วว่านำมาซึ่ง ความดีความเจริญ ปัญญาธรรม หมายถึง ความรู้ความฉลาด คือต้องรู้จักคิดพิจารณาสิ่งต่าง ๆ เรื่องราวต่าง ๆ ด้วยใจเที่ยงตรงเป็นกลาง ปราศจากอคติ อันจะช่วยให้การประพฤติตนปฏิบัติงาน ทุกอย่าง เป็นประโยชน์และเป็นธรรมอย่างแท้จริง หากบัณฑิตดำรงตนโดยยึดถือคุณธรรม ทั้งสามประการนี้ แต่ละคนก็จะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นพลเมืองของประเทศได้อย่างสมบูรณ์ สามารถสร้างสรรค์ความสำเร็จและความเจริญให้แก่ตนเองและชาติบ้านเมืองได้พร้อมทุกส่วน” และพระราชทานพระราโชวาทแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยทักษิณ ประจำปีการศึกษา 2562 ความว่า “ความสุขความเจริญอันแท้จริงในชีวิตและหน้าที่การงานนั้น จะเกิดมีขึ้นได้ ด้วยการประพฤติปฏิบัติที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม ไม่อาจเกิดมีขึ้นได้ด้วยการเบียดเบียนผู้อื่น หรือเบียดบังส่วนรวม กล่าวได้ว่า ความสุขความเจริญที่แท้ ย่อมเกิดจากการกระทำที่มีลักษณะ เป็นการสร้างสรรค์ มิใช่การทำลาย บัณฑิตทุกคนไม่ว่าจะทำการใด จึงต้องคิดพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ว่าเป็นคุณหรือเป็นโทษ เป็นประโยชน์หรือมิใช่ประโยชน์ เป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม แล้วมุ่งประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่เป็นคุณเป็นประโยชน์ และเป็นธรรมเท่านั้น ในขณะเดียวกัน ก็ประกอบกิจการงานด้วยความเอาใจใส่ระมัดระวัง หมั่นทบทวนความรู้และแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ อยู่เสมอ แล้วนำความรู้ความสามารถมาใช้ปรับปรุงส่วนที่ควรปรับปรุงให้ดีขึ้น และส่งเสริม ส่วนที่ควรส่งเสริมให้บริบูรณ์ ถ้าทำได้ดังนี้ บัณฑิตก็จะเป็นผู้ประพฤติตนปฏิบัติงานแต่ในทาง สร้างสรรค์ ซึ่งสามารถป้องกันความผิดพลาดและเสื่อมเสียทั้งปวงได้อย่างดีที่สุด แต่ละคนก็จะมี ความสุขความเจริญที่แท้จริง ทั้งในชีวิตและกิจการงาน อย่างไม่ต้องสงสัย จึงขอให้บัณฑิต นำสิ่งที่พูดนี้ไปพิจารณาให้เข้าใจ และยึดถือปฏิบัติให้ได้ประโยชน์”และเป็นประจำทุกปีนิสิตที่ได้รับทุนจากมูลนิธิชัยพัฒนาจะเข้าเฝ้าทูลถวายรายงานผลการศึกษา สำหรับ โครงการพัฒนาศักยภาพโรงเรียนในพระราชดำริและโรงเรียนขาดแคลนในพื้นที่การศึกษา 4 จังหวัดภาคใต้ มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากองค์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานทุนให้กับนักเรียนที่จบจากโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ สึนามิ และโรงเรียนขาดแคลนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ โรงเรียนในพื้นที่เกาะจำนวน 10 โรงเรียนในจังหวัดสตูล โรงเรียนคุระบุรีชัยพัฒนาพิทยาคมในจังหวัดพังงา โรงเรียนอุดมศาสน์วิทยา และโรงเรียนศรีฟาริดาในจังหวัดยะลา เพื่อให้นักเรียนมีโอกาสศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ แต่ละปีจะมีนักเรียนเข้าศึกษาในโควต้าของการรับนิสิตมหาวิทยาลัยทักษิณหลายสาขาวิชาและจะมีนิสิตได้รับทุนจากมูลนิธิชัยพัฒนาปีละ 2-3 ทุน สำหรับปีการศึกษาปัจจุบัน พ.ศ. 2565 พระองค์ทรงพระกรุณาพระราชทานทุนจำนวน 4 ทุน เพิ่มขึ้นจากเดิมทุกปี นิสิตทุนทุกคนมีผลการเรียนระดับดี และมีความมุ่งมั่นตั้งใจเรียนอย่างดียิ่ง เพื่อสนองพระราชปณิธานและพระมหากรุณาธิคุณ ซึ่งมีนิสิตจำนวนหนึ่งสำเร็จการศึกษาและเข้ารับบรรจุเป็นข้าราชการครูในภูมิลำเนาตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น
     มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของพิธีพระราชทานปริญญาบัตรที่มีต่อบัณฑิต จึงได้จัดให้เป็นงานที่สำคัญที่สุดของมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นการถวายความจงรักภักดีแด่พระบาทสมเด็จ  พระเจ้า อยู่หัวฯ ที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ ในการพระราชทานปริญญาบัตรในครั้งนี้ และถือว่าเป็นวันสำคัญวันหนึ่งในชีวิตของบัณฑิต