คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ทักษิณ ไอเดียเจ๋ง !! แปลงขยะพลาสติกเป็นของใช้ ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม สร้างความยั่งยืนให้ชุมชน

คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ทักษิณ ไอเดียเจ๋ง !! แปลงขยะพลาสติกเป็นของใช้ ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม สร้างความยั่งยืนให้ชุมชน

1 ก.ค. 67 492

คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ทักษิณ ไอเดียเจ๋ง !! แปลงขยะพลาสติกเป็นของใช้ ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม  สร้างความยั่งยืนให้ชุมชน

      

มหาวิทยาลัยทักษิณมีความมุ่งมั่นต่อเจตนารมณ์การลดปัญหาขยะ และดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีการประกาศเจตนารมณ์ที่ชัดเจนต่อการขับเคลื่อนนโยบายก้าวสู่เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน ในโครงการ TSU-SDGs for Sustainability ที่ผ่านมา พร้อมทั้งบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานทุกหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา และวิทยาเขตพัทลุง เพื่อรณรงค์ และสร้างความตระหนักให้แก่นิสิต บุคลากร ในการคัดแยกขยะพลาสติก  โดยศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยียางเพื่อชุมชน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ได้ดำเนินการแปลงขยะพลาสติกเป็นของใช้ อาทิ จานรองแก้วน้ำ กระถางปลูกต้นไม้ เป็นต้น 

อาจารย์ ดร.วีระวุฒิ  แนบเพชร อาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมยางและพอลิเมอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับที่มาของการผลิตของใช้จากขยะพลาสติกว่า  กิจกรรมดังกล่าวเป็นภารกิจหนึ่งภายใต้นโยบายการบริหารงานของ รองศาสตราจารย์ ดร.จตุพร แก้วอ่อน คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ต่อการช่วยลดปัญหาขยะพลาสติก โดยมีการนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่ถ่ายทอดจากศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยียางเพื่อชุมชน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มาต่อยอด ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวเป็นผลของการต่อยอดจากโครงการ “เด็กมอขอขวด” ซึ่งเป็นการรณรงค์ให้มีการแยกขยะ เฉพาะขยะขวดพลาสติก เพื่อลดการทิ้งขยะขวดพลาสติกในมหาวิทยาลัย ภายใต้นโยบาย Green University ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธัญญา พันธ์ฤทธิ์ดำ รองอธิการบดีวิทยาเขตพัทลุง  โดยที่ผ่านมาขวดพลาสติกที่เก็บรวบรวมได้จะขายต่อให้กับผู้รับซื้อของมือสอง ซึ่งรองอธิการบดีวิทยาเขตพัทลุง ได้ให้แนวทางการจัดการขยะที่เป็นขวดพลาสติกไว้กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ ในการแปรรูปขวดพลาสติกเพื่อใช้งานในกิจกรรมต่างๆ เช่น การผลิตกระถางเพื่อปลูกต้นไม้  จานรองแก้ว และของใช้อื่นๆ ที่สามารถขึ้นรูปได้แทนการขายกับผู้รับซื้อของมือสอง  ประกอบกับศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยียางเพื่อชุมชน คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้สานงานต่อโดยได้ทำการทดลองแปรรูปฝาขวดเป็นจานรองแก้ว เนื่องจากมีแม่พิมพ์และเครื่องจักรที่พร้อมสำหรับการใช้งานอยู่แล้ว และจะขยายผลไปยังผลิตภัณฑ์เครื่องใช้อื่น ๆ ต่อไปในอนาคต อาทิ กระถางต้นไม้ และผลิตภัณฑ์เครื่องใช้อื่น ๆ  

ในส่วนของศักยภาพเครื่องจักรต่อกำลังการผลิต และความพร้อมสำหรับการต่อยอดผลิตสู่ภาคธุรกิจ อาจารย์ ดร.วีระวุฒิ  แนบเพชร ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันคณะวิศวกรรมศาสตร์ ประยุกต์ใช้งานเครื่องจักรในการแปรรูปยางที่มีอยู่ โดยมีกำลังการผลิตประมาณ 60 ชิ้นต่อวันสำหรับการผลิตจานรองแก้ว  ซึ่งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยียางเพื่อชุมชนได้มีแนวทางในการของบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เพื่อขอรับการสนับสนุนเครื่องจักรที่ใช้ในการแปรรูปพลาสติกเพื่อขยายศักยภาพของศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยียางเพื่อชุมชน และเพิ่มศักยภาพในการผลิต พัฒนางานวิจัย และผลิตภัณฑ์ที่มีการนำขยะต่างๆ ทั้งพลาสติกและเศษเหลือทางการเกษตรกลับมาใช้ประโยชน์ ซึ่งจะสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับภาคเอกชนที่สนใจเพื่อต่อยอดสู่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมต่อไป ทั้งนี้เป็นไปตามเจตนาร่วมของทุกส่วนงาน ในมหาวิทยาลัยทักษิณ เพื่อผลักดันให้การพัฒนานวัตกรรมสนับสนุนเป้าหมาย SDGs เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพิ่มโอกาสทางการศึกษาสำหรับทุกช่วงวัย รวมถึงการได้แสดงบทบาทในการมีส่วนร่วมการสร้างความยั่งยืนแก่ชุมชนในระดับฐานราก

    

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ดร. วีระวุฒิ แนบเพชร ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยียางเพื่อชุมชน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง 222 หมู่ 2 ต. บ้านพร้าว อ. ป่าพะยอม จ. พัทลุง 93210  หมายเลขโทรศัพท์ 086-2925501

 ………………………………

ข้อมูล : อาจารย์ ดร.วีระวุฒิ แนบเพชร อาจารย์หลักสูตรวิศวกรรมยางและพอลิเมอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์

เรียบเรียง : งานสื่อสารองค์กร  สำนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ

#เด็กมอขอขวด  #ขยะพลาสติก  #ของใช้พลาสติก  #คณะวิศวกรรมศาสตร์ #ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยียางเพื่อชุมชน  #วิศวกรรมยางและพอลิเมอร์ #มหาวิทยาลัยทักษิณ #TSUNEWS  #การพัฒนาที่ยั่งยืน # SDGs