ม.ทักษิณผนึกกำลังภาคเอกชน เปิดทรัพย์สินทางปัญญากรรมวิธีการเตรียมพรอพอลิสไมโครอิมัลชัน ต่อยอดงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์

ม.ทักษิณผนึกกำลังภาคเอกชน เปิดทรัพย์สินทางปัญญากรรมวิธีการเตรียมพรอพอลิสไมโครอิมัลชัน ต่อยอดงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์

9 ต.ค. 67 3502

มหาวิทยาลัยทักษิณ ภายใต้วิสัยทัศน์ “มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยนวัตกรรมสังคมระดับแนวหน้าของประเทศ” ได้เป็นสะพานที่สำคัญระหว่างการสร้างกระบวนการทางความคิด แนวคิด วิธีการ กระบวนใหม่ นโยบาย แนวทางการพัฒนา การแก้ไขปัญหา ที่ตอบสนองความต้องการสังคมและการพัฒนาในมิติต่างๆ ด้วยการสร้าง/ใช้องค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ การพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม (Technology and Innovation) สู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์สังคมเพื่อการตอบสนองการพัฒนาประเทศในเชิงยุทธศาสตร์และนโยบาย ผ่านความร่วมมือของหลายภาคี (Quintuple Helix)

วันที่ 9 พ.ค. 2567 สถาบันวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยทักษิณ นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.สมัคร แก้วสุกแสง รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม คณะทีมนักวิจัย และ นายสมศักดิ์ หนิหลง  ผู้ประกอบการจากบริษัท วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงผึ้งชันโรง บ้านเกาะแลหนัง ฟาร์ม ร่วมลงนามการอนุญาตให้ใช้สิทธิในเทคโนโลยีเพื่อการต่อยอดทรัพย์สินทางปัญญาเรื่อง “กรรมวิธีการเตรียมพรอพอลิสไมโครอิมัลชัน” คำขออนุสิทธิบัตร เลขที่ 2401001802 เพื่อการนำทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัยมหาทักษิณไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์

 

นวัตกรรมนี้เป็นผลงานวิจัยของ ดร.พรวิชัย เต็มบุตร จากคณะอุตสาหกรรมเกษตรและชีวภาพ ซึ่งได้พัฒนากรรมวิธีการเตรียมพรอพอลิสไมโครอิมัลชัน โดยพรอพอลิส (propolis) หรือ ขี้ชัน เป็นส่วนประกอบของรังผึ้ง ทั้งชนิดมีเหล็กใน เช่น ผึ้งโพรง ผึ้งหลวง และชนิดไม่มีเหล็กใน โดยผึ้งจะมีการเก็บพรอพลิสหรือขี้ชันมาจากยางไม้และเกสรดอกไม้ ทำให้องค์ประกอบส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นเรซิ่นมีสีเข้มและเหนียวเป็นยาง (resinous) โดยผึ้งและชันโรงจะใช้ส่วนพรอพอลิสเพื่อวัตถุประสงค์ในการป้องกันรังจากการโดนรุกรานจากศัตรู จุดเด่นของเทคโนโลยีไมโครอิมัลชันในการนำมาประยุกต์ใช้ ในการเตรียมสารสำคัญทางเครื่องสำอางเนื่องจาก  ลักษณะเนื้อสารหลังเตรียมมีความใส น่าใช้งาน สามารถนำไปเตรียมเป็นผลิตภัณฑ์สุดท้าย (finished products) ได้หลายรูปแบบ เช่น แบบหยด สเปรย์ หรือเติมในสารก่อเจลให้ได้เนื้อครีม หรือโลชั่น เป็นระบบที่มีเสถียรภาพสูง จึงทำให้สามารถยืดอายุคุณภาพของสินค้า (shelf life) ยาวนาน ขั้นตอนการเตรียมไม่ยุ่งยากไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือที่ซับซ้อน สามารถเข้าผสมกับสารได้หลากหลายชนิด ทั้งที่ละลายน้ำได้และไม่ละลายน้ำ            

 

การร่วมมือครั้งนี้ไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยทักษิณ แต่ยังเป็นการเชื่อมโยงองค์ความรู้จากสถาบันการศึกษาสู่ภาคธุรกิจ ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมของประเทศ และยกระดับอุตสาหกรรมท้องถิ่นสู่มาตรฐานสากล นับเป็นก้าวย่างสำคัญของการพัฒนานวัตกรรมไทยต่อไป  

...........................
เรียบเรียงโดย : งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยทักษิณ
ข้อมูล : สถาบันวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยทักษิณ 

ติดตามข่าวสารหรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 
Facebook : TSU-Enterprise CO.,LTD
Email : tsu.enterprise2023@gmail.com
Tel : 0 7460 9600 ต่อ 7247 08 1540 นางสาวพิมพ์ณดา มณีวงค์ , นางสาวอินทิรา ล่วงห้อย