อีสาระภา เฮโล  เฮโล สนั่นรับกับเสียงโพน ระฆัง ฆ้อง  ก้องไกลทั่วแดนใต้ สืบสานงานบุญใหญ่ ประเพณีลากพระ

อีสาระภา เฮโล เฮโล สนั่นรับกับเสียงโพน ระฆัง ฆ้อง ก้องไกลทั่วแดนใต้ สืบสานงานบุญใหญ่ ประเพณีลากพระ

18 ต.ค. 67 297

รุ่งอรุณของวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งถัดจากวันออกพรรษา ทั่วแคว้นแดนใต้จะคึกคักไปด้วยบรรยากาศประเพณีชักพระ หรือลากพระ ซึ่งเป็นประเพณีงานบุญใหญ่ของพี่น้องชาวใต้ สันนิษฐานว่าประเพณีนี้เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศอินเดีย ที่นิยมเอาเทวรูปออกแห่ในโอกาสต่างๆ  ต่อมาพุทธศาสนิกชนได้นำเอาคติความเชื่อดังกล่าวมาปรับปรุงให้สอดคล้องกับความเชื่อทางพระพุทธศาสนา โดยเชื่อกันว่า เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อโปรดพระมารดา เมื่อครบพรรษาจึงเสด็จกลับมายังโลกมนุษย์ พุทธศาสนิกชนจึงมารอรับเสด็จแล้วอัญเชิญพระพุทธเจ้าขึ้นประทับบนบุษบกแล้วแห่แหนไปรอบเมือง ครั้นเลยสมัยพุทธกาล พุทธศาสนิกชนจึงนำเอาพระพุทธรูปยกขึ้นแห่แหนเป็นสมมติแทนพระพุทธองค์

นอกจากประเพณีอันดีงามและความเชื่อที่สืบสานส่งต่อกันมา สิ่งที่กลายเป็นสัญลักษณ์และสร้างความคึกคักให้กับงานบุญใหญ่ของชาวใต้ ก็คือ “เรือพระ” ซึ่งเป็นรถหรือล้อเลื่อนที่ประดับตกแต่งให้เป็นรูปเรือแล้ววางบุษบก ซึ่งภาษาพื้นเมืองของภาคใต้เรียกว่า "นม" หรือ "นมพระ" ยอดบุษบก เรียกว่า "ยอดนม" ใช้สำหรับอาราธนาพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานแล้วลากในวันออกพรรษา ส่วนสำคัญที่สุด คือ บุษบก ซึ่งแต่ละวัด แต่ละชุมชนจะมีเทคนิคการออกแบบที่แตกต่างสร้างสรรค์มีอัตลักษณ์เฉพาะตัว หลังคาบุษบกนิยมทำเป็นรูปจตุรมุข ตกแต่งด้วยหางหงส์ ช่อฟ้า ใบระกา การประดับประดาวิจิตรงดงาม อลังการจนเกิดเป็นสำนวนเปรียบเปรยความงามในหมู่คนใกล้ชิดแบบติดตลกว่า “อยู่งามเหมือนเรือพระ” เมื่อมีการแต่งองค์ทรงเครื่องแบบจัดหนัก จัดเต็ม ทั้งเสื้อผ้า หน้า ผม และเสน่ห์อีกประการหนึ่งของเทศกาลนี้ คือ ทุกครอบครัวต้องจัดหาใบกระพ้อ และสารข้าวเหนียวเตรียมทำขนมต้ม หรือในภาษาใต้เรียกว่า "แทงต้ม" เพื่อนำไปแขวนบน "เรือพระ" เพื่อความเป็นสิริมงคล แต่ปัจจุบันก็นิยมซื้อหามากกว่าเพื่อความสะดวก  

             

“พระลาก” คือ พระพุทธรูปยืน แต่ที่นิยม คือ พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร เมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 พุทธบริษัทจะสรงน้ำพระและเปลี่ยนจีวร แล้วอัญเชิญขึ้นบนบุษบก แล้วพระสงฆ์จะเทศนาเรื่อง “การเสด็จไปดาวดึงส์ของพระพุทธเจ้า” จากนั้นตอนเช้ามืดของวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ชาวบ้านจะมาตักบาตรหน้านมพระ เรียกว่า "ตักบาตรหน้าล้อ" แล้วอัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนนมพระ

   

ประเพณีชักพระมี 2 แบบ คือ “ชักพระทางบก” และ “ชักพระทางน้ำ” ซึ่งเป็นการอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานบนบุษบกในเรือ แล้วลากไปทางน้ำ จะเป็นของวัดส่วนใหญ่ที่อยู่ใกล้แม่น้ำลำคลอง ส่วนการชักพระทางบก จะแห่แหนชักลากเรือพระไปตามถนน โดยใช้เชือกแบ่งผูกเป็น 2 สาย มีโพน ฆ้อง ระฆัง เป็นเครื่องตีให้จังหวะในการชักลากเรือพระ คนลากจะเบียดเสียดกันสนุกสนาน มีการประสานเสียงร้องบทเพลงลากพระเพื่อเป็นสีสันและช่วยผ่อนแรง ซึ่งจะร้องเป็นกลอนสด บางครั้งอาจจะมีความหมายในลักษณะสองง่ามสามแง่ เช่น “อี้สาระพา เฮโล เฮโล ไอ้ไหรกลมกลม หัวนมสาวสาว ไอ้ไหรยาวยาว สาวสาวชอบใจ” ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างความสนุกสนาน ครื้นเครง มีทั้งเนื้อหาการเย้าแหย่สังคมแวดล้อม สะท้อนปัญหาเรื่องราวของชาวบ้าน นับเป็นปฏิภาณไหวพริบที่ทำให้คนดู คนฟัง คนร่วมขบวนลากแห่พากันยิ้ม หัวเราะ มีความสุขไปตาม ๆ กัน  

   

    

ประเพณีชักพระ ยังทำให้เกิดประเพณีการละเล่นอื่นตามมา เช่น การเล่นเพลงเรือ, การแข่งเรือ, การประชันปืด (ตะโพน), การประชันโพน(กลอง) และการประกวดความงดงามของเรือพระ ตลอดจนการสร้างพระพุทธรูปขึ้นใหม่ เพื่อใช้ในงานประเพณี เป็นต้น ประเพณีชักพระจึงไม่เพียงแต่เป็นกิจกรรมทางศาสนา แต่ยังเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ในชุมชน การอนุรักษ์วัฒนธรรม และการส่งเสริมการท่องเที่ยว การสืบสานประเพณีนี้จะช่วยให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้และเข้าใจถึงคุณค่าของประเพณีและวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน  

   

..............................................................

เรียบเรียง : งานสื่อสารองค์กร  สำนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ

ภาพ : facebook : Damrong Cheevasaro  (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดำรงค์ ชีวะสาโร : อาจารย์ประจำสาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.ทักษิณ)

อ้างอิง                                                                                                                                                                                     องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะยอ.(2551).ประเพณีชักพระหรือลากพระ.สืบค้น.เข้าถึง 18 ตุลาคม 2567  จาก https://kohyor.go.th/news/detail/14688/data.html

#ประเพณีภาคใต้ #ประเพณีชักพระ #ชักพระ #แห่พระ #ลากพระ #ออกพรรรษา #ภูมิปัญญาท้องถิ่น #มหาวิทยาลัยทักษิณ #Thaksinuniversity #TSU #WeTSU #TSUNews