ไข่ผำ พืชอาหารพื้นบ้านแห่งอนาคต

ไข่ผำ พืชอาหารพื้นบ้านแห่งอนาคต

18 ต.ค. 67 955

ใครจะรู้ว่า สีเขียวๆที่ลอยอยู่บนพื้นน้ำเป็นแพตามคลอง หนอง บึง จะเป็นซุปเปอร์ฟู้ดไซส์จิ๋ว ที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหาร ทั้งยังเป็นฮีโร่ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศอีกด้วย

เม็ดสีเขียวเล็กๆ ที่ลอยเป็นแพตามห้วย หนอง คลอง บึง ปะปนกับจอกแหนนั้น คือ ผำ หรือไข่แหน (water meal) หรือ “วูฟเฟีย” (Wolffia) ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มพืชดอก (Angiosperm) ที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก เป็นพืชในสกุลไข่แหน เดิมจัดอยู่ในวงศ์แหน (Lemnaceae) ในปัจจุบันจัดให้อยู่ใต้วงศ์บุกบอน (Araceae) ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ  Wolffia globosa (Roxb.) Hartog & Plas ทั่วโลกพบ 11 ชนิด ในประเทศไทยพบเพียง 1 ชนิด มีชื่อเรียกต่างกันตามท้องถิ่น เช่น ไข่น้ำ ไข่ผำ ไข่ขำ ไข่แหน และ ผำ ซึ่งมีขนาดเล็กที่สุดในสกุล Wolffia  

ลักษณะ เป็นรูปไข่ มีส่วนของโครงสร้างเป็นแผ่นคล้ายใบที่เรียกว่า “ทัลลัส” (Thallus) คล้ายใบขนาดเล็ก    สีเขียวอ่อน ลักษณะพองนูนทั้งด้านบนและด้านล่าง ไม่มีเส้นใบ ไม่มีราก ไม่มีเกล็ด  ลอยอยู่บนผิวน้ำ อาจเห็นเป็นสองเม็ดอยู่ติดกัน โดยเม็ดสีเขียวที่มีขนาดเล็กกว่าเป็นต้นลูกที่เกิดจากการแตกหน่อออกมาจากต้นแม่ เป็นแบบไม่อาศัยเพศ เรียกว่า หน่อ (Turion) ดอกออกเป็นช่อขนาดเล็กมากและจะเกิดอยู่ในถุงตรงขอบทัลลัส มีดอกเพศผู้และดอกเพศเมียอย่างละ 1 ดอก  พบน้อยมากที่ออกดอกมาเพื่อเป็นส่วนสืบพันธุ์

การใช้ประโยชน์ของไข่ผำ

- ประโยชน์ทางอาหาร พบว่า พืชสกุลไข่แหนเป็นพืชที่ให้โปรตีนสูงกว่าพืชทั่วไป มีกรดอะมิโนจำเป็นครบถ้วนและอุดมด้วยสารอาหารที่จำเป็นอีกมากมาย  นอกจากนี้ยังย่อยง่าย ไฟเบอร์สูง ดีต่อระบบการย่อยอาหาร รวมถึงมีแคลอรี่ แป้ง น้ำตาลและไขมันต่ำ เหมาะกับผู้ที่ต้องการคุมน้ำหนัก และไม่พบแคลเซียมออกซาเลต (กรณีแหนเป็ดเล็ก (genus Lemna) และแหนเป็ดใหญ่ (genus Spirodela) จะมีการสะสมแคลเซียมออกซาเลตสูง) ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ  ในพื้นที่ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกกเฉียงเหนือของไทยยังมีการนำไข่ผำมาบริโภคเป็นอาหารพวก ยำ แกง หมก และลาบ เช่น คั่วผำกับหมู แกงไข่ผำ ไข่เจียวไขผำ ยำไข่ผำ

- ประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม พบว่า ผำช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศได้เทียบเท่ากับป่าที่สมบูรณ์ในพื้นที่ ๆ เท่ากันอีกด้วย อีกทั้งยังเป็นอาหาร และเป็นที่หลบภัยของสัตว์น้ำแล้วอีกด้วย

ด้วยคุณประโยชน์อันหลากหลายทั้งด้านโภชนาการและความยั่งยืน ไข่ผำจึงมีศักยภาพสูงในการเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของไทย ที่จะช่วยตอบโจทย์ความมั่นคงทางอาหารในอนาคต

 

อ้างอิง
หอพรรณไม้. (2555). ไข่แหน. Herbarium News หนังสือพิมพ์จิ๋ว. 5(2), 5.
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. (2014). เฉพาะกิจ 1: พืชที่เล็กที่สุดในโลก. เข้าถึงจาก 17 ตุลาคม 2567 จาก https://biology.ipst.ac.th/?p=692
มหาวิทยาลัยมหิดล. (2022). “ผำ” พืชจิ๋วพื้นบ้าน อาหารแห่งอนาคตสู้วิกฤตด้านอาหารและสิ่งแวดล้อม. เข้าถึงจาก 17 ตุลาคม 2567 จาก https://science.mahidol.ac.th/simple-science/2022/08/02/wolffia/

เรียบเรียงบทความ : นางสาวมาณี แก้วชนิด
ตำแหน่ง นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ สังกัดคณะวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยทักษิณ

เครดิตภาพ : PPTVHD36
#ไข่ผำ #พืชอนาคต #สิ่งแวดล้อม #knowledgesharing #SuperFood #ความมั่นคงทางอาหาร