ในโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสามัญที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยและการประชุมใหญ่สามัญสมาคมที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 5/2567 ระหว่างวันที่ 19 - 20 ตุลาคม 2567 ณ สถาบันทักษิณคดีศึกษา และหอเปรมดนตรี มหาวิทยาลัยทักษิณภูมิใจบอกเล่าความเป็น The university of Glocalization ให้ปรากฏแก่สายตาอธิการบดี และผู้บริหารมหาวิทยาลัยกว่า 30 แห่งทั่วไทย ผ่านนิทรรศการเรื่องราวความเป็นอยู่ วิถีชีวิต วัฒนธรรมพื้นถิ่น ตลอดจนประวัติศาสตร์ โบราณคดีของกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในภาคใต้ของประเทศไทย จากสถาบันทักษิณคดีศึกษาและพิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา ซึ่งได้รับการจัดอันดับเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านอันดับ 4 ของประเทศ และอันดับ 361 ของโลก จากการจัดอันดับพิพิธภัณฑ์โลก (Museum World Ranking) จากฐานข้อมูลที่แสดงในเว็บไซต์ museumworldranking.net
นอกจากนี้ยังการันตีคุณค่าด้วยรางวัลต่างๆ อีกมากมายที่ได้รับมาอย่างต่อเนื่อง และถือเป็นเกียรติภูมิของสถาบันคดีศึกษา ที่ได้ทำหน้าที่ในการเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ทางศิลปะและวัฒนธรรมภาคใต้ และการเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญของภูมิภาค อาทิ รางวัลดีเด่น “ประเภทแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและโบราณสถาน” จากการประกวดรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย (Thailand Tourism Award) ซึ่งจัดโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รางวัล “หน่วยงานดีเด่นของชาติ สาขาเผยแพร่เกียรติภูมิของไทย” จากสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ ของชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี, รางวัลดีเด่น “ประเภทแหล่งท่องเที่ยวนันทนาการเพื่อการเรียนรู้” จากการจัดประกวดรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย (Thailand Tourism Award) ครั้งที่ 8 ซึ่งจัดโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
รวมถึง “รางวัลที่ 1 มิวเซียมไทยแลนด์ป๊อบปูล่าโหวต 2018” โดยพิพิธภัณฑ์คติชนวิทยา สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ได้รับคะแนนความนิยม popular vote สูงสุดระดับประเทศ จากพิพิธภัณฑ์และแหล่งการเรียนรู้จำนวน ๑,๕๐๐ แห่ง จากการโหวตของประชาชนทั่วประเทศผ่านเว็บไซต์มิวเซียมไทยแลนด์ และเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ได้รับคัดเลือกจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากสาขาต่างๆ เป็นรางวัลสำหรับการยกย่องเชิดชูและเป็นกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติงานในพิพิธภัณฑ์และแหล่งการเรียนรู้
ภายในพิพิธภัณฑ์ มีการจัดแสดงโดยใช้วัตถุของจริงประมาณ 50,000 ชิ้น นอกจากนี้ยังมีการผสมผสานสื่อหลากชนิด เพื่อให้ผู้เข้าชมได้รับทั้งสาระและความเพลิดเพลิน ทำให้เข้าใจเรื่องราวได้ง่ายขึ้น อาทิ หุ่นจำลอง, เสียง, ภาพ, วิดีทัศน์ โดยแบ่งเป็นห้องต่างๆ ในอาคาร 4 กลุ่ม คือ กลุ่มอาคารนวมภูมินทร์ ประกอบด้วย ห้องประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์, ห้องลูกปัดและเครื่องประดับ, ห้องมีดและศาสตราวุธ, ห้องอาชีพหลัก, ห้องเครื่องมือจับสัตว์, ห้องเครื่องปั้นดินเผา, ห้องผ้าทอพื้นเมือง และห้องศาสตราจารย์สุธวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ รำลึก
กลุ่มอาคารหลังคาบลานอ ประกอบด้วย ห้องกระต่ายขูดมะพร้าว, ห้องศิลปหัตถกรรม, ห้องการจัดการศึกษา,ห้องนันทนาการ, ห้องวัฒนธรรมเครื่องประทีป และห้องวัฒนธรรมเครื่องแก้ว กลุ่มอาคารหลังคาปั้นหยา ประกอบด้วย ห้องวัฒนธรรมโลหะและโลหัช, ห้องมุสลิมศึกษา, ห้องการละเล่นพื้นเมือง, ห้องเหรียญและเงินตรา และห้องศาสนา
กลุ่มอาคารหลังคาจั่ว จัดแสดงเกี่ยวกับวิถีชีวิตชาวใต้ ประกอบด้วย ห้องสามสมเด็จเจ้าฯ และประเพณีการเกิดและการบริบาล, ห้องการเล่นของเด็กภาคใต้, ห้องประเพณีการผูกเกลอและการฝากตัวเข้าเรียน, ห้องประเพณีการบวช, ห้องความเชื่อโชคชะตาราศีและการรักษาพยาบาล, ห้องประเพณีออกปากกินวาน และห้องประเพณีขึ้นเบญจา
นอกจากความน่าสนใจภายในพิพิธภัณฑ์ฯ แล้ว ภายนอกอาคารยังเป็นจุดชมวิวหลักล้านที่สามารถชมทัศนียภาพ ความงามของทะเลสาบสงขลาและสะพานติณสูลานนททั้งกลางวันและยามค่ำคืน กลายเป็นจุดเช็คอินสำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดสงขลา
เปิดทำการทุกวัน
วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 08.30-17.00 น.
วันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 09.00 – 18.00 น.
ค่าเข้าชม
เด็ก 10 บาท / นักศึกษา 20 บาท / ผู้ใหญ่ 50 บาท / ชาวต่างชาติ 100 บาท
..................................................................................................
เรียบเรียง : งานสื่อสารองค์กร สำนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ
#ทปอ #ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย #ทปอ_5/2567 #เจ้าภาพการประชุมทปอ #Glocalization #จากรากสู่โลก #สถาบันทักษิณคดีศึกษา #สงขลา #MuseumWorldRanking #Museum #มรดกชาติ #ภาคใต้ #ภูมิปัญญาท้องถิ่น #มหาวิทยาลัยทักษิณ #ThaksinUniversity #TSU #WeTSU #TSUNews