แชร์โล Co-Working space : พื้นที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ พบกับจุดเช็คอินในมหาวิทยาลัยทักษิณ

แชร์โล Co-Working space : พื้นที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ พบกับจุดเช็คอินในมหาวิทยาลัยทักษิณ

26 เม.ย. 67 594

Co-Working Space คือ พื้นที่ทำงานร่วมกันที่เปิดให้ทุกคนได้เข้ามาใช้บริการ เปรียบเสมือนออฟฟิศส่วนกลางที่ผู้คนจากหลากหลายสายงานมารวมตัวกันเพื่อทำงาน  หรือพัฒนากิจกรรมต่าง ๆ ปัจจุบัน Co-Working Space กลายเป็นตัวเลือกที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ  เพราะตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การทำงานยุคใหม่ของนักเรียน นิสิต นักศึกษา และบุคคลทั่วไปอย่างหลากหลาย  ประกอบกับมหาวิทยาลัย ในฐานะแหล่งผลิตและพัฒนาบุคลากรของประเทศ  กำลังเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ  อยู่เสมอ  หนึ่งในนั้นคือ  การปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยที่เทคโนโลยีและรูปแบบการเรียนรู้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้นการเปิดพื้นที่กลางเพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างเครือข่ายที่ผู้ใช้บริการมีโอกาสได้พบปะผู้คนใหม่ ๆ จากหลากหลายสายงาน ซึ่งอาจนำไปสู่โอกาสทางธุรกิจ หรือการทำงานร่วมกัน รวมถึงการพัฒนาความคิด จินตนาการที่ไม่หยุดนิ่ง ก่อเกิดเป็นองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด  ดังนั้น Co-Working Space  จึงกลายเป็นพื้นที่ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ   ไม่เพียงแต่ในกลุ่มนักธุรกิจ  แต่ยังรวมไปถึงกลุ่มนักศึกษาด้วย   มหาวิทยาลัยหลายแห่งจึงเริ่มนำแนวคิด Co-Learning Space  มาประยุกต์ใช้   เพื่อสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่ทันสมัย   ตอบโจทย์ความต้องการของนักศึกษาในยุคปัจจุบัน  

 

มหาวิทยาลัยทักษิณมีนโยบายการสร้างพื้นที่ส่วนกลางที่จะสนับสนุนการเรียนรู้ และสร้างจิตนาการเพื่อต่อยอดสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรม หรือ Co-Learning และ Co-Working space ที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ “การเป็นมหาวิทยาลัยนวัตกรรมสังคมระดับแนวหน้า” ภายใต้การบริหารงานโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ สำหรับนวัตกรรมสังคม (Social Innovation) เป็นแนวคิดภายใต้การประยุกต์ใช้แนวคิดใหม่และเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ สังคม สิ่งแวดล้อมและการเป็นผู้ประกอบการ  ซึ่งได้เล็งเห็นถึงการสนับสนุนให้มีพื้นที่กลาง เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ พบปะ สังสรรค์ และการทำกิจกรรมร่วมกันของนิสิต จุดเด่นของ Co-Learning Space และ Co-Working space ในมหาวิทยาลัยเพื่อ
     - ส่งเสริมการเรียนรู้แบบ Active Learning : นิสิตสามารถเรียนรู้ผ่านกิจกรรม การลงมือปฏิบัติจริง แทนการนั่งฟังบรรยายเพียงอย่างเดียว
     - กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ : บรรยากาศที่ผ่อนคลาย เปิดกว้าง เอื้อต่อการแลกเปลี่ยนความคิด ช่วยให้นิสิตมีความคิดสร้างสรรค์
     - พัฒนาทักษะการทำงานร่วมกัน : นิสิตได้ฝึกฝนการทำงานร่วมกัน การสื่อสาร การแก้ปัญหา ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นในโลกของการทำงาน
     - สร้างเครือข่าย : นิสิตได้พบปะผู้คนใหม่ ๆ จากหลากหลายสาขาวิชา ซึ่งอาจนำไปสู่โอกาสในการทำงานร่วมกันในอนาคต
     - เกิดพื้นที่สร้างสรรค์และจิตนาการที่ไม่สิ้นสุด

       

ตัวอย่างกิจกรรมใน Co-Working Space ได้แก่ การระดมความคิด (Brainstorming) การทำงานกลุ่ม (Group Project)  การนำเสนอผลงาน (Presentation) การอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) กิจกรรมสันทนาการ (Recreational Activities) ทีมข่าว TSU NEWS ได้รวบรวมพื้นที่ Co-Working Space และขอแนะนำจุดเช็คอิน Co-Working Space ภายในมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา และวิทยาเขตพัทลุง มาให้น้อง ๆ ได้ฮีลใจกันก่อนที่จะเปิดเทอม จะเป็นพื้นที่ใดนั้น ไปชมกันเลย

บริเวณที่ถูกจัดสรรไว้สำหรับ Co-Working Space ในพื้นที่มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา ได้แก่

     1. คณะศึกษาศาสตร์ : ชั้น 5 ห้อง Co-Working Space,  ชั้น 3 ห้องแหล่งเรียนรู้ และบริเวณลานชั้น 1
     2. คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ : บริเวณลานกิจกรรมชั้น 1
     3. คณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ : บริเวณลานกิจกรรมด้านข้างคณะเศรษฐศาสตร์ฯ
     4. คณะนิติศาสตร์ (ตึกใหม่)  : ห้อง Co-Working Space ชั้น 1 
     5. คณะศิลปกรรมศาสตร์ : บริเวณ ลานชั้น 1
     6. วิทยาลัยการจัดการเพื่อการพัฒนา : ห้อง Co-Working Space ชั้น 3
     7. อาคารเรียนรวมอเนกประสงค์ 1  : บริเวณลานชั้น 1
     8. อาคาร 50 ปี มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา : บริเวณลานชั้น 1 และร้าน Thaksina Café
     9. หอพักนิสิต ปาริชาต 1 , 2  ห้อง Co-Working Space ชั้น 1  

  

และบริเวณที่ถูกจัดสรรไว้สำหรับ Co-Working Space ในพื้นที่มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ได้แก่

     1. อาคารทักษิณาคาร : ห้องแอร์บริเวณชั้น 1 ตรงข้ามร้าน Thaksina Café
     2. อาคารเรียนรวม มี 2 พื้นที่  : บริเวณศาลา และลานกิจกรรมชั้น 1
     3. คณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา : บริเวณลานชั้น 1 ด้านหน้าอาคารคณะ และภายในอาคารคณะ
     4. คณะวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมดิจิทัล มี 2 พื้นที่ : บริเวณลานชั้น 1 อาคารวิทยาศาสตร์ 1 (SC1) และ บริเวณชั้น 2 อาคารวิทยาศาสตร์ 1 (SC1)
     5. อุทยานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมสังคม : บริเวณลานชั้น 1
     6. สถาบันทรัพยากรการเรียนรู้และเทคโนโลยีดิจิทัล มี 2 พื้นที่ :  บริเวณลานชั้น 1 และชั้น 3
     7. คณะวิศวกรรมศาสตร์ และ คณะนิติศาสตร์ : บริเวณลานกิจกรรมชั้น 1
     8. คณะอุตสาหกรรมเกษตรและชีวภาพ และ คณะเทคโนโลยีและการพัฒนาชุมชน : บริเวณลานกิจกรรมชั้น 1 

      

    

...........................

เรียบเรียง :  งานสื่อสารองค์กร สำนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ

#Co_Working_Space #Co_Learning_Space  #Active_Learning  #Social_Innovation #TSUNEWS #มหาวิทยาลัยทักษิณ