ฝูงปลาหวด  จากฝูงปลาในธรรมชาติสู่ลวดลายลิขสิทธิ์ 1 ในชุด DIY บาติกสีธรรมชาติ  พานุก ผลงานสร้างสรรค์นักวิจัยมหาวิทยาลัยทักษิณ

ฝูงปลาหวด จากฝูงปลาในธรรมชาติสู่ลวดลายลิขสิทธิ์ 1 ในชุด DIY บาติกสีธรรมชาติ พานุก ผลงานสร้างสรรค์นักวิจัยมหาวิทยาลัยทักษิณ

6 ก.พ. 67 2100

  “ฝูงปลาหวด” จากฝูงปลาในธรรมชาติสู่ลวดลายลิขสิทธิ์ 1 ในชุด DIY บาติกสีธรรมชาติ “พานุก” ผลงานสร้างสรรค์นักวิจัยมหาวิทยาลัยทักษิณ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นินนาท์ จันทร์สูรย์  อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์พื้นฐาน คณะวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมดิจิทัล อาจารย์ผู้สอนทางด้านเคมี แต่หลงใหลความเป็นธรรมชาติและศิลปะ ได้ร่วมกับทีมวิจัยผลิตผลงาน “ฝูงปลาหวด” ซึ่งเป็นผลงานประเภทศิลปกรรม  ลักษณะงานจิตรกรรม ที่ได้แจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ไว้ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา ทะเบียนข้อมูลเลขที่  ศ1.056524 เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ได้ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าว TSU NEWS เกี่ยวกับแรงบันดาลใจของการผลิตผลงานนวัตกรรมชุด “ฝูงปลาหวด” ไว้ดังนี้  

สำหรับที่มาของผลงานสร้างสรรค์ “ฝูงปลาหวด” ฝูงปลาหวดเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยชุด DIY บาติกสีธรรมชาติ ชื่อ พานุก มีอาจารย์ ดร.ทิพย์ทิวา สัมพันธมิตร และ ผศ.มารีนา  มะหนิ คณะวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมดิจิทัล เป็นทีมวิจัย โดยรวมแล้วคอนเซ็ปต์ของ พานุก (Paa Noog) Fun way to play thinking  กล่าวคือถ้าเราลองพูด พานุก เป็นภาษาใต้  พานุก จะขายความเป็นใต้ เช่น สี ลวดลาย  “ฝูงปลาหวด” เป็นหนึ่งในลายของพานุก  ชุด DIY บาติกเปลี่ยนเฉดสีธรรมชาติด้วยสารช่วยติด  ซึ่งงานวิจัยได้ศึกษาเกี่ยวกับภูมิปัญญาของชุมชนในการทำผ้าบาติกของกลุ่มศิวะนาฏ กนกไทย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง และกลุ่มศรีนาคาโมเดล ตำบลบ้านนา อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง  รวมถึงศึกษาการเปลี่ยนเฉดสีเหลืองของขมิ้นด้วยสารช่วยติด และการสร้างชุด DIY แม่พิมพ์จากวัสดุธรรมชาติ  และออกแบบและสร้างชุด DIY บาติกเปลี่ยนเฉดสีธรรมชาติด้วยสารช่วยติด

   

พานุก เป็นชุดคราฟ DIY บาติกสีธรรมชาติที่เชื่อมโยงกับจังหวัดพัทลุงเชื่อมร้อยกับวิถีชีวิตของชุมชน โดยเฉพาะชุมชนบ้านเขาคราม อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง โดยผู้วิจัยได้ร่วมโครงการ การยกระดับเศรษฐกิจชุมชนด้วยโมเดลธุรกิจชุมชนเกื้อกูลตามนิเวศเขา-นา จังหวัดพัทลุง จึงได้มีโอกาสลงพื้นที่ทำให้ได้รู้จักกับชุมชนบ้านเขาคราม ที่สำคัญรู้ว่าคนในชุมชนเข้มแข็ง แข็งแกร่ง และมีความภาคภูมิใจในวิถีชีวิต และความเป็นท้องถิ่น  ทุกสรรพสิ่งของความเป็นชุมชนบ้านเขาครามมีความเป็นศิลปินในตัวเอง อาทิ เชื่อมโยงความเป็นตัวตนเข้ากับบรรยากาศรอบตัว  หวงแหนความเป็นธรรมชาติ ในขณะเดียวกันเปิดใจรับสิ่งใหม่ ๆ เช่น ชุมชนคนทำผ้าบาติกสีธรรมชาติ “ศรีนาคา” เปิดใจรับการผลิตแม่แบบพิมพ์รูปแบบใหม่ ลายใหม่ ๆ ซึ่งทางกลุ่มแม้จะมีลวดลายเป็นของตัวเอง แต่ก็ยอมรับลายที่เกิดจากแม่พิมพ์กาบหมาก และนำไปต่อยอด ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ออกจำหน่าย สร้างรายได้ให้กับชุมชน

การดำเนินงานที่เกี่ยวกับผลงานนวัตกรรม “ฝูงปลาหวด” เกิดจากการมีโอกาสรู้จักผู้คน ทำให้ได้สัมผัสกับวิถีใหม่ ๆ ได้ลงพื้นที่ไปร่วมทำกิจกรรมด้วยกัน ได้สัมผัสกับวิถีชีวิต ความเป็นธรรมชาติ  ดื่มด่ำกับวิถีชีวิตโดยเฉพาะธรรมชาติของน้ำตกเขาคราม ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของ ฝูงปลาหวด จึงเป็นที่มาของการต่อยอดผลิตผลงานนวัตกรรม ลายบาติกสีธรรมชาติ ชุด “ฝูงปลาหวด” ซึ่งเป็นหนึ่งในชุดคราฟ DIY บาติกสีธรรมขาติ พานุก  รายละเอียดของปลาหวด เป็นปลาที่อาศัยอยู่ในเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด ในพื้นที่บริเวณน้ำตกไพรวัลย์ น้ำตกโตปากราง อ.กงหรา และพื้นที่บริเวณน้ำตกเขาคราม น้ำตกโตนแพรทอง อ.ศรีนครินทร์ โดยฝูงปลาดังกล่าวจะอาศัยอยู่ในเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัดเพียงแห่งเดียวเท่านั้น (ที่มา : นสพ.ไทยรัฐออนไลน์ 13 พ.ย. 2559) ปลาหวด จะอยู่รวมกันเป็นฝูง มีลักษณะการแหวกว่ายในสายน้ำใส ความสวยงามในขณะที่มีการเคลื่อนไหวภายใต้สายน้ำ ทำให้เกิดจินตนาการก่อเกิดเป็นลวดลาย ฝูงปลาหวด ซึ่งเป็นไปตามโจทย์งานวิจัยที่ได้รับมาคือ การผลิตแม่พิมพ์ DIY  ซึ่งเป็นแม่พิมพ์ที่ผู้นำไปใช้จะต้องออกแบบลวดลายและประกอบแม่พิมพ์เป็นลวดลายต่าง ๆ ด้วยตัวเอง  เหมือนว่า ถ้าเรามองแม่พิมพ์ของลายผ้าบาติกโดยทั่วไป  เราจะออกแบบลวดลายโดยให้ช่างเป็นคนทำแม่พิมพ์ให้ แต่ผลงานชุดคราฟ DIY บาติกลายสีธรรมชาติ เป็นผลงานของทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยทักษิณ ที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้เป็นต้นแบบสำหรับคนที่จะนำไปผลิตเป็นลวดลายหลากหลายด้วยตนเอง ที่สำคัญลวดลายต่าง ๆ สามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลาตามจินตนาการของแต่ละคน และทำได้ตามความต้องการ สะดวกเมื่อไหร่ก็สามารถผลิตได้ 

           

ลาย พานุก นอกเหนือจากลาย ฝูงปลาหวดแล้ว ยังมีลาย ไข่ครอบ อาหารพื้นเมืองของคนสงขลา ซึ่งเป็นลายที่ได้แรงบันดาลใจมาจากภาพวาดของ “คุณโก้” กุลธวัช เจริญผล นักวาดภาพผู้หลงใหลเมืองเก่าสงขลา การที่ลวดลายสามารถบอกเล่าเรื่องราวของพื้นที่ เมื่อเราพิมพ์ลายต่าง ๆ ของชุด คราฟ DIY เราจะสัมผัสได้ถึงคุณค่า วิถีชีวิต และเพิ่มมุมมองใหม่ของลายบาติกและทำให้มีมูลค่าผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น เห็นถึงความแตกต่างจากลายบาติกโดยทั่ว ๆ ไป และยกระดับลายบาติกไปสู่อีกขั้นของศิลปะ กล่าวคือ คนที่จะมาทำลวดลายบาติกสามารถสร้างสรรค์ลวดลายได้ตามจินตนาการตามแม่แบบที่มีอยู่โดยไร้ขีดจำกัดของความคิดสร้างสรรค์  สำหรับลายฝูงปลาหวดเป็นแม่แบบพิมพ์บาติกที่มีปลา 3 ตัว ซึ่งผู้พิมพ์ลายสามารถนำแม่แบบเหล่านี้ไปพิมพ์ลายบาติกได้ตามจินตนาการ โดยการจัดวางได้หลากหลายมุมมอง  

 

“ฝูงปลาหวด” เป็นผลงานของการผสมผสานระหว่างวิทยาศาสตร์กับศิลปะ ที่ตอบโจทย์ด้านการเรียนการสอน และการวิจัย โดยการเชื่อมโยงบูรณาการระหว่างวิทยาศาสตร์กับศิลปะกรรมซึ่งทำให้เห็นถึงความแตกต่างจากผลงานโดยทั่ว ๆ ไปได้อย่างดี ก่อนหน้านี้มีผลงานการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์จาก STREET ART สงขลา, เล่าเรื่องวิทย์ชิดย่านเมืองเก่าสงขลา และบอร์ดเกมขลานิเวศน์ อ่านว่า ขลา-นิ-เวศ  มีที่มาจากคำว่า “สงขลา” บวก “นิเวศน์” ขลานิเวศน์เป็นบอร์ดเกมบ่มเพาะนวัตกรรุ่นใหม่ ซึ่งเกิดจากความรักในอาชีพอาจารย์ที่สอนทางด้านวิทยาศาสตร์ (เคมี)  ผนวกกับความชื่นชอบทางด้านศิลปะ ผสมผสานเข้ากับความเป็นนวัตกรรม เพราะเราเชื่อมั่นว่า การที่เราจะสร้างนวัตกรรม เราจะต้องมีเครื่องมีสำหรับช่วยสร้าง ซึ่งได้มีโอกาสเข้ารับการอบรมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA)  การเข้ารับการอบรมในครั้งนั้นได้รู้จักกับ STEAM4INNOVATOR ประกอบกับความมีใจรักในความเป็นสงขลา และมีความหลงใหลในความเป็นรากเหง้าของความเป็นสงขลา ได้รู้จักและสัมผัสกับผู้คนที่มีคุณลักษณะนวัตกรที่ทุ่มเทเพื่อสร้างสรรค์ผลงานเพื่อชาวสงขลา 

  

ผู้คนหลากหลายจากหลากอาชีพล้วนมีมุมมองใหม่ มีจิตวิญญาณที่จะคอยเกื้อหนุน ส่งเสริมความเป็นวิถีพื้นถิ่นความเป็นสงขลาเมืองเก่า เช่นการสรรหาเมนูอาหารที่ผลิตจากวัตถุดิบคุณภาพดีในพื้นที่ สามารถบ่งบอกเรื่องราวและเล่าวิถีของความเป็นพื้นถิ่น ผ่านการรังสรรค์เมนูอาหารที่แปลกแตกต่าง ซึ่งผู้คนเหล่านี้ล้วนมีคุณลักษณะเด่นของความเป็น “นวัตกร”  มีความรู้ มีความสามารถ มีจินตนาการ สามารถที่จะคิดสร้างสรรค์ต่อยอดอาชีพผ่านการทำบางสิ่งบางอย่างอย่างสร้างสรรค์และทรงคุณค่า และจากการสอนในรายวิชานวัตกรรมการจัดการการเรียนรู้เคมี เวลาที่เราสอนวิชานี้ เราจะเริ่มต้นจากนวัตกรรม เมื่อนิสิตเข้าใจในคำว่านวัตกรรม เข้าใจในกระบวนการที่จะสามารถต่อยอดและประยุกต์ใช้ในห้องเรียนวิชาเคมี  ฝูงปลาหวด จึงเป็น 1 ลวดลายในชุด DIY ที่สามารถนำไปบอกเล่าให้นิสิตฟังได้ว่า “ทุกคนมีลักษณะของความเป็นนวัตกรอยู่ในตัวตน” บางครั้งการสร้างนวัตกรรมหรือนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจึงไม่ได้เป็นสิ่งที่ไกลตัวเลย เป็นสิ่งใกล้ ๆ ตัวของเราแต่มองในมุมมองใหม่อย่างเข้าใจและสร้างสรรค์  

 

สำหรับแนวทางความร่วมมือของทีมงานวิจัยกับชุมชน เราจะใช้ผลงานที่ได้จากการสร้างสรรค์มุ่งเน้นความเป็นธรรมชาติของท้องถิ่น เพื่อถ่ายทอดและบอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิต ความเป็นธรรมชาติของชุมชน ของผู้คน ได้เป็นอย่างดี ซึ่งในอนาคตอันใกล้อาจจะมีการผลิตผลงานชุดคราฟ DIY เพิ่มเติมสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวจังหวัดพัทลุง ทำลวดลายบาติกที่ใช้สีจากธรรมชาติจากท้องถิ่นของจังหวัดพัทลุง ที่มีการออกแบบให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายแต่ละประเภท สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นจากการได้ลงพื้นที่ ได้ร่วมแลกเปลี่ยน แรงบันดาลใจระหว่างกัน นอกจากนี้ยังเป็นสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าและความสำคัญของทรัพยากรในท้องถิ่น การอนุรักษ์ทรัพยากรในชุมชนสู่การใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

 ………………………………

ข้อมูล/ภาพ  :  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นินนาท์ จันทร์สูรย์  อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์พื้นฐาน คณะวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมดิจิทัล
เรียบเรียง : งานสื่อสารองค์กร สำนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ

#ฝูงปลาหวด  #บาติกสีธรรมชาติ  #DIY  #ศรีนาคา  #ผ้าย้อมสีธรรมชาติ  #น้ำตกเขาคราม #ศรีนครินทร์  #TSUNEWS  #WeTSU