คณบดี คณะนิติศาสตร์ ม.ทักษิณ ชูนโยบาย  Proud to be TSU LAW  มุ่งขับเคลื่อนหลักสูตรนิติศาสตร์พันธุ์ใหม่

คณบดี คณะนิติศาสตร์ ม.ทักษิณ ชูนโยบาย Proud to be TSU LAW มุ่งขับเคลื่อนหลักสูตรนิติศาสตร์พันธุ์ใหม่

14 มี.ค. 67 1164

คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ชูนโยบาย  Proud to be TSU LAW  มุ่งขับเคลื่อนหลักสูตรนิติศาสตร์พันธุ์ใหม่ เสริมสมรรถนะสากลนักกฎหมาย

สภามหาวิทยาลัยทักษิณ ในการประชุมครั้งที่ 2/2567  เมื่อวันที่ 2  มีนาคม 2567 มีมติแต่งตั้ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ กฤษฎา อภินวถาวรกุล  ดำรงตำแหน่ง คณบดีคณะนิติศาสตร์ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2567 เป็นต้นไปนั้น ทีมข่าว TSU NEWS ได้สัมภาษณ์ แนวทางการบริหารคณะนิติศาสตร์ ซึ่งท่านได้ให้ข้อมูลดังนี้ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ภายใต้การนำของผู้ช่วยศาสตราจารย์ กฤษฎา อภินวถาวรกุล  คณบดีคณะนิติศาสตร์  มีนโยบายที่ชัดเจน โดยมุ่งเน้น Competency ด้านการจัดการเรียนการสอน กล่าวคือเราจะมีการ Transform หลักสูตรแบบเดิม หรือแบบคลาสสิกที่มุ่งเน้นให้มีการเรียนมาก ๆ จะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบหลักสูตรจากเดิม ไปสู่หลักสูตรนิติศาสตร์พันธุ์ใหม่ โดยมุ่งเน้นการจัดการเรียนการสอน การวิจัยการ บริการวิชาการในลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้มุ่งเน้นการเรียนเชิงวิชาการและสร้างสมรรถนะการเข้าสู่อาชีพของผู้เรียน โดยเฉพาะมุ่งสร้างความแตกต่าง เรียกว่า “Proud to be TSU LAW”  คือการสร้างอัตลักษณ์ตัวตนของนิสิตคณะนิติศาสตร์ สิ่งที่นิสิตต้องมี คือ Soft skills ความมีคุณธรรม จริยธรรม มีความรู้รอบตัว เพื่อการประกอบอาชีพในศตวรรษที่ 21 โดยจัดโครงสร้างผู้บริหารหนึ่งคนดูแลเรื่องเหล่านี้โดยเฉพาะ  

นอกจากนี้เราจะมุ่งสร้างสมรรถนะสากล 2 ส่วนคือส่วนแรกทักษะด้านภาษาอังกฤษและทักษะสากล เช่นการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นที่นิสิตต้องนำไปใช้ตอนที่พวกเขาไปทำงาน ส่วนที่ 2 ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ สำหรับรูปแบบการจัดการเรียนการสอนเพื่อตอบสนองนโยบายและรองรับหลักสูตรใหม่ ๆ และหลักสูตร Premium ในอนาคต   คณะนิติศาสตร์มีแนวทางการจัดการศึกษาทุกช่วงวัย คือการจัดการเรียนรู้ทางกฎหมายให้แก่ผู้เรียนรู้ทุกช่วงวัย โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562  การเปิดหลักสูตร Non Degree และ Pree Degree ซึ่งเป็นคณะแรกๆ ในมหาวิทยาลัยทักษิณ ที่เริ่มดำเนินการ และเมื่อเปิดเรียนในระยะแรกๆ  ได้รับการตอบรับอย่างดี จึงได้มีการจัดทำกลยุทธ์ที่เรียกว่า “LAW For ALL” ซึ่งเป็นการจัดการเรียนรู้ทางกฎหมายให้กับคนทุกช่วงวัย เพื่อให้ครอบคลุมหลักสูตรนิติศาสตร์มหาบัณฑิตในชั้นบัณฑิตศึกษา โดยแบ่งเป็น 3 แผน
     แผนที่ 1 คือแผนที่เหมาะสมสำหรับผู้เรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
     แผนที่ 2 เหมาะสำหรับผู้เรียนในหลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิตที่คาดหวังว่าจะเรียนต่อในระดับนิติศาสตร์มหาบัณฑิต
     ส่วนแผนที่ 3 เป็นแผนที่ยอดเยี่ยมและเป็นที่ชื่นชอบของผู้ปกครอง หรือเรียกว่า Double Pree Degree เรียน ปริญญาตรี ควบปริญญาโท ใช้เวลาเรียนเพียง 4 ปี ครึ่ง ซึ่งการเรียนแบบเดิมกว่าที่นิสิตจะสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท อาจต้องใช้เวลาเรียน 6 ปีครึ่ง หรือ 8 ปี ตรงนี้เป็นความแปลกใหม่ เรียกว่าเป็น “นวัตกรรมทางการจัดการศึกษา” 

  

ในขณะเดียวกัน เราจะร่วมมือกับเครือข่ายโรงเรียนมัธยมในการจัดการห่วงโซ่อุปทานโดยเข้าไปจัดการห้องเรียนนิติศาสตร์รัฐศาสตร์ในโรงเรียนที่มีความพร้อม หรือโรงเรียนเครือข่าย โดยพัฒนาหลักสูตรและพัฒนาคุณครูสอนสังคมศาสตร์และสอนกฎหมายซึ่งการพัฒนาคุณครูจะชื่อมโยงกับการเรียนการสอนทุกช่วงวัยและเทียบโอนกลับมาเป็นหน่วยกิตมหาบัณฑิตด้านนิติศาสตร์ได้ในอนาคต และในขณะเดียวกัน พื้นที่ภาคใต้มีนิสิตเข้ารับราชการหรือพนักงานราชการจำนวนมาก บุคคลเหล่านี้จบปริญญาตรี และไปทำหน้าที่นิติกร ในหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 500 กว่าคน โดยส่วนใหญ่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี ซึ่งนิติกรเหล่านี้มีความจำเป็นต้องพัฒนาสมรรถนะของตัวเองเป็นประจำทุก ๆ ปี โดยทางคณะนิติศาสตร์สามารถเชื่อมโยงสู่การพัฒนาสมรรถนะให้มีการเทียบโอนกลับมาเป็นหลักสูตรนิติศาสตร์มหาบัณฑิต อีกส่วนที่จะมุ่งทำคือ การเปิดหลักสูตรควบ 2 ปริญญา Double Degree โดย ความร่วมมือกับคณะศึกษาศาสตร์ สาขาสังคมศึกษา ผลิตครูสอนกฎหมาย หรือแม้แต่การเปิดหลักสูตร Double Degree นิติศาสตร์กับภาษาจีน ซึ่งจะเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้สนใจเรียนหลักสูตรอินเตอร์ ซึ่งสามารถขยายผลไปสู่ความร่วมมือผลิตหลักสูตรร่วมในภาษาอื่น ๆ ต่อไป  สำหรับหลักสูตรปริญญาตรีควบปริญญาโท คาดว่าจะเตรียมเปิดในปี 2568 นี้

ปัจจัยสนับสนุนและสิ่งอำนวยความสะดวกแก่บุคลากรและนิสิต ที่คณะจัดเตรียม เพื่อเป้าหมายการผลิตบัณฑิตของคณะนิติศาสตร์ ในขณะนี้มีการปรับปรุงอาคาร 7 (สำนักงานอธิการบดี เดิม) ให้เป็นอาคารเรียนคณะนิติศาสตร์ มีการเปิดกลุ่มเรียนออนไลน์ ในลักษณะการจัดการสอนแบบซินโครนัสคือเรียนผ่านสื่อการเรียนออนไลน์ซึ่งจะเปิดทางไว้สำหรับนักเรียนที่จะสมัครเรียนโควต้าในการสอบTCAS และเพิ่มห้องไกล่เกลี่ยคดีความ ห้องปฏิบัติการด้านกฎหมาย คลินิกกฎหมายจะถูกฟื้นฟูให้กลับมาเป็นแหล่งเรียนรู้ของนิสิต  ในขณะเดียวกันคณะนิติศาสตร์จะมีการเปิดศูนย์ความเป็นเลิศ 3 ศูนย์ได้แก่ ศูนย์นิติชาติพันธุ์ ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านประชาชน เพื่อเป็นทางเลือกในการระงับข้อพิพาทก่อนเข้าศูนย์กระบวนการยุติธรรมกระแสหลักซึ่งเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่ดีของผู้เรียน โดยได้รับการจดทะเบียนจากกรมคุ้มครองสิทธิ์ ในแต่ละปีจะผลิตผู้ไกล่เกลี่ยออกสู่สังคมปีละกว่า 50 คน และศูนย์กฎหมายธุรกิจและทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งศูนย์นี้เหมาะสมกับผู้ที่สนใจจะเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งเราจะใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการยกระดับมูลค่าสินค้าและบริการต่าง ๆ  

 

 และในส่วนของพื้นที่วิทยาเขตพัทลุง ได้รับความเอื้อเฟื้อพื้นที่สำหรับการจัดการเรียนการสอนจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้พยายามพัฒนาระบบนิเวศต่าง ๆ ให้เอื้อต่อการจัดการเรียนการสอน ทั้งห้องเรียนศาลจำลอง ห้องไต่สวน ห้องไกล่เกลี่ย ห้องปฏิบัติการทางกฎหมาย นอกจากนี้ ได้มีการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของการจัดการเรียนการสอนโดยได้มีการแลกเปลี่ยนอาจารย์ที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน ที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ด้านการวัดและประเมินผลการเรียนเป็นรายวิชาเราจะไม่เพียงแค่ดึงมาทำหน้าที่วิทยากรแบบชั่วครั้งชั่วคราว ในส่วนของการพัฒนาบุคลากรเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ คณะนิสิตศาสตร์ตั้งเป้าหมายไว้ว่า เราจะมุ่งผลิตอาจารย์ที่ทำผลงานวิชาการจาก 40% ให้เพิ่มเป็น 80% ภายในระยะเวลา 4 ปี ในช่วงเวลาของการบริหารงาน

                      

ทั้งนี้จะมีการจัดการระบบนิเวศให้เหมาะสม และเกื้อหนุนให้คณาจารย์และนักวิจัยได้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างเต็มสมรรถนะ พร้อมทั้งอุดหนุนทุนสนับสนุนผลงานวิชาการของคณะนิติศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น จะผลักดันอย่างเต็มที่ ส่วนโครงสร้างด้านการบริหารงานองค์กร และผู้บริหารผมคิดว่าจริง ๆ การบริหารองค์กรให้ประสบความสำเร็จได้ เราจะต้องสร้างทีมบริหารใหม่ ๆ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องพึ่งพาประสบการณ์การทำงานของผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารงาน ปัญหาของสถาบันการศึกษาที่พบบ่อยคือเราปราศจากการเทรนนิ่งผู้บริหารในอนาคต ในขณะที่ดำรงตำแหน่งผมจะพยายามสร้างผู้บริหารใหม่ ๆ ในลักษณะ Train The Tranner ต้องมีการเรียนรู้ ต้องมีประสบการณ์ ผมพยายามสร้างความยั่งยืนให้กับคณะนิติศาสตร์ด้วยการสร้างผู้บริหารรุ่นใหม่ เทรนนิ่งผู้บริหารในอนาคต ในขณะเดียวกัน ก็ต้องอาศัยผู้มีประสบการณ์คอยแนะนำให้คำปรึกษา จึงเป็นรูปแบบการบริหารงานในลักษณะเรียนรู้จากประสบการณ์ของท่าน เพื่อปรึกษาในการต่อยอดงานใหม่ ๆ เป็นการประสานระหว่างประสบการณ์กับความเป็นคนรุ่นใหม่ให้ลงตัวมากที่สุด เพื่อขับเคลื่อนคณะนิติศาสตร์ไปสู่เป้าหมายอย่างท้าทายในอนาคต

......................................

เรียบเรียง : งานสื่อสารองค์กร  สำนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ

#นิติศาสตร์  #LAW  #TSU  #นิติศาสตร์พันธ์ุใหม่  #นโยบาย #คณบดีคณะนิติศาสตร์  #มหาวิทยาลัยทักษิณ  #TSUNEWS