วิชชายุทธสู้จน-ชุมชนเกื้อกูล คนศรีนครินทร์

วิชชายุทธสู้จน-ชุมชนเกื้อกูล คนศรีนครินทร์

20 มี.ค. 67 1129

บรรยากาศยามเช้าที่ศูนย์เรียนรู้เครือข่ายสินธุ์แพรทอง ตำบลลำสินธุ์ อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง เริ่มคึกคัก มีชีวิตชีวา ผู้เข้าร่วมโครงการวิชชายุทธเกษตรแก้จน คนศรีนครินทร์ ทยอยเดินทางมา ไม่ขาดสาย ทุกคนสวมเสื้อสีเขียวสดใส กระจัดกระจาย บ้างลงทะเบียน ตกแต่งนิทรรศการ  จับกลุ่มจิบกาแฟ พูดคุยสนทนากันอย่างสนุกสนาน

ข้าพเจ้าเดินทางมาถึงก่อนเวลานัดหมายพอสมควร  “การเดินทางทำให้เราพบกับความงดงามของชีวิต เมื่อรู้ที่รู้ทางย่อมจัดวางจังหวะได้ลงตัว” ถือโอกาสยังไม่มีใครทันสังเกตเห็น เดินอ้อมไปที่โรงครัวด้านข้างอาคาร กลิ่นปลาย่างหอมฉุย โชยมาแต่ไกล แม่ครัวนับสิบขะมักเขม้นเด็ดผักเหลียงใบใหญ่ คั้นกะทิ ปอกกุ้ง ล้างผัก ฯลฯ



แม่ครัวใหญ่บอกว่า “แกงส้มปลาย่าง ใบเหลียงต้มกะทิกุ้งสด น้ำพริกผักสดพื้นบ้านอินทรีย์ ปลอดสารเคมี”  คือเมนูเด็ดของวันนี้ ข้าพเจ้าถึงกับกลืนน้ำลายสอเสียดายอยู่ในที ด้วยว่ามีภารกิจเร่งด่วนที่กรุงเทพในตอนบ่ายของวัน หลังนั่งสนทนาทักทายแม่ครัวอยู่ใหญ่ไปพร้อม ๆ กับจิบกากาแฟโบราณ จึงขอตัวไปที่โถงสถานที่จัดโครงการวิชชายุทธแก้จน คนศรีนครินทร์ อีกฝั่งของอาคาร “ค่อยมากินรอบหน้า”  ข้าพเจ้าบอก หลังแม่ครัวใหญ่ใจดีเอ่ยว่าจะใส่ถุงฝากไปให้ที่มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอป่าพะยอม ห่างออกไปราว 40 กิโลเมตร---ระยะทางอาจไกล แต่หัวใจเราใกล้ชิดกันกว่าครั้งไหน ๆ จำมาจากไหน ไม่แน่ใจ?   

โครงการวิชชายุทธแก้จน คนศรีนครินทร์ เป็นหนึ่งในเป็นโมเดลปฏิบัติการ ภายใต้โครงการวิจัยและนวัตกรรมแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ จ.พัทลุง โดยมหาวิทยาลัยทักษิณ จากการสนับสนุนของหน่วยบริหารจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ร่วมกับองค์กรภาคีในระดับพื้นที่-ท้องที่ ท้องถิ่น และหน่วยงานราชการในระดับจังหวัดและระดับชาติ อาทิ พมจ. พช. พอช. อบต. เกษตรและสหกรณ์จังหวัด กรมส่งเสริมวิชาการเกษตร เครือข่ายสินธุ์แพรทอง เครือข่ายสวัสดิการชุมชนจังหวัดพัทลุง เป็นต้น โดยมีกลุ่มเป้าหมายในโครงการและกิจกรรมนี้คือกลุ่มยากจนและคนจนเปราะบางในพื้นที่   

       

การพูดคุยสนทนาและการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งข้อมูลจากฐานTPMAP การทวนสอบ ข้อมูลชุมชน ระหว่างนักวิจัย กลุ่มคนจนเป้าหมายที่ต้องเกื้อกูล (ต่อไปจากเรียก “คนเกื้อกูล”) ทำให้สามารถตกผลึกในเชิงข้อมูล ยกระดับต่อยอดไปสู่การทำกิจกรรมเกษตรแปลงใหญ่เพื่อสร้างโอกาสให้กลุ่มคนเกื้อกูลเข้ามาทำงานในห่วงโซ่การผลิตทางการเกษตรที่ปลอดภัยและยั่งยืน ด้วยการปลูก “ผักเหลียงพันธุ์ใบใหญ่” เป็นพืชแซมสวนยางพาราและไม้ผลสำหรับการเสริมรายได้ให้แก่ชุมชน เกิดการจ้างแรงงานในห่วงโซ่การผลิตระดับต้นน้ำและกลางน้ำ และกระบวนการผลิตพืชแซมพืชหลักด้วยระบบการจัดการทางการเกษตรแบบปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กลุ่มเป้าหมายคือคนเกื้อกูลที่มีรายได้ต่ำกว่า 3,000 บาทต่อเดือน จากตำบล ลำสินธุ์ ตำบลอ่างทอง ตำบลชุมพล และตำบลบ้านนา ในอำเภอศรีนครินทร์ ที่สมัครใจเข้าร่วม จำนวน 131 ครัวเรือน

ผักเหลียง หรือ “ผักเหมียง” “ผักเมี่ยง” ในคำเรียกแถบจังหวัดพังงา กระบี่ พังงา  ภูเก็ต “ผักเปรียง” “เขรียง” ในจังหวัดนครศรีธรรมราช “กะเหรียง” แถบชุมพร เป็นต้น เป็นพืชผักพื้นบ้านของอุษาคเนย์โดยแท้ ได้ชื่อว่าเป็น “ราชินีแห่งพืชผักปักษ์ใต้  มีรายงานวิจัยว่าเหลียงคุณค่าโภชนาการอันมากมาย ไม่ว่าจะเป็นแคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก และวิตามินเอ วิตามินซี  มีสารเบต้าแคโรทีน สรรพคุณบำรุงสายตาสูงกว่าผักบุ้งถึง 10 เท่าเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยง ป้องกันมะเร็ง ได้อีกด้วย

   

เหลียงเป็นผักที่รับประทานง่าย ไม่มีกลิ่น ไม่เหม็นเขียว เหมาะกับทุกเพศทุกวัย แม้กระทั่งในเด็กที่มักเข็ดขยาดกับผักยังสามารถรับประทานได้ ไม่งอแง สามารถนำมาปรุงได้หลากกลายเมนูอาหาร ไม่ว่าจะเป็น เหลียงผักไข่ ผัดน้ำมันหอย ผัดไข่ แกงเลียง ผัดกะปิ ลวกจิ้มน้ำพริกสด กะทิกุ้งสด ผัดเหลียงเบคอน ชุบแป้งทอดกรอบ แทบจะเรียกได้ว่าสามารถดัดแปลงให้เคียงคู่/ เข้ากันกับเมนูสารพัด เหลียงจึงได้ชื่อว่า “นางงามมิตรภาพ” พ่วงอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย เหลียงเป็นไม้ยืนต้น ทรงพุ่ม สูง 1-3 เมตร  ใบเขียว ยาวแต่เรียกเล็ก แต่เหลียงโดยทั่วไปมักเป็นใบเรียวเล็ก เหนียว ไม่เขียวสด จึงดูไม่สวยงาม ไม่เป็นที่นิยม/ ไม่ถูกอกถูกใจของตลาดและผู้บริโภค แม้จะมีความต้องมากแค่ไหนก็ตาม เหลียงที่ศรีนครินทร์ ไม่เหมือนใคร? ต้นเหลียงใบใหญ่ ทรงสูง ใบนุ่มกรอบ เขียวสด มันวาว ทว่าขยายพันธุ์ยาก โจทย์นี้จึงเป็นที่มาของวิชชายุทธสู้จน คนศรีนครินทร์ ด้วยการนำ “นวัตกรรมการขยายพันธุ์แบบเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ” และนำมาส่งเสริมถ่ายทอดเทคโนโลยีผ่านกระบวนการ “การรวมกลุ่มเกื้อกูล เรียนรู้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เพิ่มพื้นที่การผลิต ขยายผลด้วยสัจจะและธรรมนูญ”

เป้าหมายสำคัญคือ การรวมกลุ่ม สร้างรายได้ สร้างการจ้างงานให้คนเกื้อกูลทั้งที่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง และไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ตลอดห่วงโซ่คุณค่าและการผลิต โดยมีรูปแบบการในลักษณะแปลงรวม (แปลงใหญ่) และแปลงเดี่ยว เพื่อเสริมรายได้ จากกิจกรรม การจำหน่ายใบสด  กิ่งตอน กิ่งตอนชำถุง การทำตุ้มตอน การเพาะเลี้ยงแหนแดง การผลิตวัสดุเพาะกล้าและดินปลูก

แน่นอนว่ากระบวนการเหล่านี้ยังต้องอาศัยระยะเวลาในการเรียนรู้ การถ่ายทอด ยอมรับ ปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีที่เหมาะสมใน “เชิงวิทยาศาสตร์สังคม”  แต่พื้นที่ทางสังคมของการเกื้อกูล การยึดมั่นในสัจจะและธรรมนูญที่ออกแบบร่วมกัน  หรือที่ป้าท่านหนึ่งในโครงการท่านหนึ่งบอกกับข้าพเจ้าด้วยน้ำเสียงมั่นอกมั่นใจว่า “ลงแรง สร้างมากับมือ” คือ “สัจจะ” แห่งการการรู้แจ้งในวิชชายุทธของตน สร้างความต่อเนื่องยั่งยืนด้วยกฎ กติกาที่ร่วมสร้างผ่านสิ่งที่เรียกว่า “ธรรมนูญกลุ่ม” และการจัดการตนเองในอนาคต แดดสายร้อนส่องประกายร้อนแรงครอบคลุมบริเวณโดยรอบ โถงอาคารอ้าวอบขึ้น พัดลมแขวนบนเสาสูงยังส่ายสม่ำเสมอ  พอคลายร้อน ใครบางคนขยับเก้าอี้หลบ ทว่าไม่ใช่คนเกื้อกูล...นิ่งฟังอย่างตั้งใจ ข้าพเจ้าขยับ เอ่ยปากขอตัวเดินทางด้วยความเกรงใจ ลุงอุทัย บุญดำ ประธานเครือข่ายการเรียนรู้สินธุ์แพรทอง จับมือข้าพเจ้าพร้อมเอ่ยปาก “ขอบคุณมากครับอาจารย์”  ข้าพเจ้ายิ้มปลีกตัวออกมา สารถีรอท่าอยู่แล้ว “เราล้วนมีที่ทางที่ต้องเดินและก้าวไป”  การเดินทางของกลุ่มยังอีกยาวไกล แต่มิตรภาพจากการลงมือปฏิบัติการจริง ทำให้เขา/เธอ มั่นใจทุกย่างเท้าที่ก้าวเดินบนผืนดินงอกงาม

....................
เรื่อง : รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ
ภาพจาก : เพจงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาความยากจน จ.พัทลุง https://www.facebook.com/PovertyProject.TSU และ เพจ readme https://th.readme.me/p/47245 
เรียบเรียง : งานสื่อสารองค์กร สำนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ