ม.ทักษิณ จัด TSU Innovation Showcase and Move to Industry  ชูสินค้านวัตกรรม สร้างเศรษฐกิจเติบโตควบคู่สังคมยั่งยืน

ม.ทักษิณ จัด TSU Innovation Showcase and Move to Industry ชูสินค้านวัตกรรม สร้างเศรษฐกิจเติบโตควบคู่สังคมยั่งยืน

22 ก.พ. 67 737

วันนี้ (22 กุมภาพันธ์ 2567) รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นประธานเปิดกิจกรรม “TSU Innovation Showcase and Move to Industry”  ณ ชั้น 1 อาคารศูนย์เครื่องมือกลาง มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง โดยความร่วมมือระหว่าง สถาบันวิจัยและนวัตกรรม และ อุทยานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยทักษิณ และภาคีเครือข่ายนักวิจัยและผู้ประกอบการ โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.สมัคร แก้วสุกแสง รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวต้อนรับ พร้อมแนะนำ TSU Innovation Showcase  และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นุกูล อินทระสังขา  ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ และแนะนำโครงการ “การพัฒนาธุรกิจฐานนวัตกรรม : แผนงานสุดยอดกลุ่มอุตสาหกรรมบีซีจีภาคใต้” ภายใต้แผนงาน Innovation Driven Enterprise (IDEs) โดยมีผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วยผู้บริหารมหาวิทยาลัยทักษิณ ผู้บริหารภาครัฐ ภาคเอกชน ภายนอกผู้ประกอบการ นักวิจัย บุคลากรและสื่อมวลชน จำนวน 115 ราย มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์เปิดตัว โครงการการพัฒนาธุรกิจฐานนวัตกรรม ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมีพิธีลงนาม MOU กับภาคเอกชน เพื่อแสดงผลงานนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยทักษิณ ( TSU Innovation Showcase)   และส่งเสริมให้อาจารย์ นักวิจัย ภาคเอกชน ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการดำเนินการโครงการ Pre-TSU Move For Industry รวมทั้งโครงการต่างๆ ผ่านบริการของอุทยานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยทักษิณ

รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยทักษิณเป็นมหาวิทยาลัยกลุ่มที่ 2 การพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม (Technology and Innovation) มุ่งเน้นส่งเสริมการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากมหาวิทยาลัยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในภาคเอกชน ภายใต้แผนกลยุทธ์มหาวิทยาลัยทักษิณระยะ 5 ปี (พ.ศ.2566-2570) โดยขับเคลื่อนการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) จัดตั้งนิติบุคคลเพื่อร่วมลงทุนผ่านการจัดตั้ง Holding Company ในชื่อ บริษัท ทีเอสยู เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมของประเทศ ส่งเสริมและสนับสนุนการนำองค์ความรู้ ผลงานวิจัย เทคโนโลยี หรือนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยทักษิณไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์หรือประโยชน์ด้านอื่นๆ ที่เป็นผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยนำองค์ความรู้หรือสินทรัพย์ของมหาวิทยาลัยไปใช้ประโยชน์ในฐานการผลิตและบริการด้านต่าง ๆ ที่เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศและสร้างรายได้ให้มหาวิทยาลัยและสร้างกลไกการบริหารที่มีความคล่องตัวในการผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์

 

นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.สมัคร แก้วสุกแสง รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยทักษิณ ให้ข้อมูลว่า สถาบันวิจัยและนวัตกรรม และ อุทยานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยทักษิณ จัดโครงการ “TSU Innovation Showcase and Move to Industry” ขึ้น เพื่อประชาสัมพันธ์เปิดตัว TSU Innovation Showcase ซึ่งเป็นระบบนิเวศวิจัยใหม่ในการขับเคลื่อนธุรกิจนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นกลไกในการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและการส่งต่อผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่ภาคเอกชน และการเปิดตัวโครงการการพัฒนาธุรกิจฐานนวัตกรรม ในปีงบประมาณ 2567 : แผนงานสุดยอดกลุ่มอุตสาหกรรมบีซีจี ภาคใต้”  ซึ่งอุทยานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ จากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) โดยมีกิจกรรมสำคัญในวันนี้ ดังนี้ พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ แผนงานพัฒนาและส่งเสริมให้ประเทศเพิ่มธุรกิจฐานนวัตกรรม (Innovation Driven Enterprise: IDEs) ระหว่าง มหาวิทยาลัยทักษิณ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย กับ บริษัทที่ปรึกษา (iBDS) และผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม (IDEs) จำนวน 6 บริษัท ได้แก่ บริษัท พอช เมดิก้า ไลฟ์เทค จำกัด,   บริษัท ชัยเจริญมารีน (2002) จำกัด บริษัท ดีแอนด์จี ฟู๊ด ซัพพลาย จำกัด, บริษัท 3 เอ็ม ฟูด โปรดัก จำกัด , บริษัท เฟิสท์ รับเบอร์ จำกัด , บริษัท ตรังแคนเนอรี่ จำกัด  และการจัดแสดงผลิตภัณฑ์นวัตกรรม จากผลงานวิจัย TSU Innovation Showcase ภายใต้โครงการขับเคลื่อนธุรกิจนวัตกรรมมหาวิทยาลัยทักษิณ และการต่อยอดผลงานวิจัยที่สำคัญ เช่น โครงการการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำในจังหวัดพัทลุง ภายใต้แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) โดยมีผลิตภัณฑ์ที่นำมาจัดแสดงและจำหน่ายภายใต้แบรนด์ทองหลางช้อป บริษัท ทีเอสยู เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด และโครงการเงินทุนหมุนเวียนจากคณะต่างๆ ได้แก่ คณะเทคโนโลยีและการพัฒนาชุมชน, คณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา, คณะวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมดิจิทัล คณะอุตสาหกรรมเกษตรและชีวภาพ, คณะวิศวกรรมศาสตร์ และการแสดงผลงานผลิตภัณฑ์และกิจกรรม Pitching ของนิสิตที่จะเดินทางเข้าร่วม Sakura Science Program (SPP) 2024 ณ ประเทศญี่ปุ่น ในปลายเดือนนี้ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการชี้แจงทุนส่งเสริมให้บุคลากรวิจัยไปปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหาและเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตให้กับภาคอุตสาหกรรม (Pre-TSU Move for Industry) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และจัดแสดงผลงานวิจัยร่วมเอกชนของนักวิจัยที่ได้รับทุน จำนวน 17 ผลงาน ในปีที่ผ่านมา เพื่อส่งเสริมบุคลากรมหาวิทยาลัยทักษิณด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากมหาวิทยาลัย ปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในภาคเอกชน (Pre-TSU Move For Industry)  ในโครงการต่างๆ ผ่านสถาบันวิจัยและนวัตกรรม และบริการของอุทยานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยทักษิณ 

  

และในโอกาสนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นุกูล อินทระสังขา  ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยทักษิณ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า อุทยานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมสังคม ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ภายใต้แผนงาน F7 (S1P8) พัฒนาและส่งเสริมให้ประเทศเพิ่มธุรกิจฐานนวัตกรรม (Innovation Driven Enterprise: IDEs) มหาวิทยาลัยทักษิณ ในฐานะหน่วยงานหลักของตัวกลาง (Intermediary) ร่วมกับและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย หน่วยงานร่วมได้จับมือร่วมกับหน่วยงานบริการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรม (Innovative Business Development Service, IBDS) ดังนี้ บริษัท เคดีอาร์ โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท อิเมจินดีไซน์ จำกัด และบริษัทเค็งโคโซได อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้นำเสนอ “แผนงานสุดยอดกลุ่มอุตสาหกรรมบีซีจีภาคใต้” (Southern Super-Cluster : Chapter BCG)” ภายใต้แนวคิด “เชี่ยวชาญท้องถิ่นสู่ความเป็นเลิศในสากล  (Local Talent to Global Excellent)  เพื่อที่จะช่วยสนับสนุนและตอบสนองนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล โดยเป็นการสร้างเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นบนฐานความรู้และนวัตกรรมโดยการเพิ่มวิสาหกิจฐานนวัตกรรม (Innovation Driven Enterprises: IDEs) ขนาดกลาง-ใหญ่ ทั้ง 6 บริษัท ให้เป็นแรงขับเคลื่อนหลักของระบบเศรษฐกิจ ทั้งในท้องถิ่นและประเทศให้ออกจาก “กับดักกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง” ซึ่งมหาวิทยาลัยทั้งสองได้ดึงศักยภาพในจุดแข็งของผู้เชี่ยวชาญ ผู้ประกอบการ และทุกภาคส่วนในพื้นที่ภาคใต้ที่มีทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีแหล่งท่องเที่ยวที่โดดเด่นและมีศักยภาพขยายไปเป็นฐานการส่งออกสินค้าและบริการได้อย่างดี ดังนั้น การที่หน่วยงานภาคีได้ร่วมมือกันพัฒนาโครงการในครั้งนี้จะมีส่วนช่วยทำให้ภูมิภาคใต้และประเทศไทยมีการพัฒนาระบบนิเวศด้านนวัตกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างผลตอบแทนทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนเกิดเป็น สุดยอดกลุ่มอุตสาหกรรมบีซีจีภาคใต้ (Southern Super-Cluster : Chapter BCG) และพัฒนาก้าวหน้าให้มั่นคงต่อไปภายในระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี

    

สำหรับกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การจัดแสดงบูธผลิตภัณฑ์นวัตกรรม และนิทรรศการผลงานวิจัย TSU Innovation Showcase  การชี้แจงความคาดหวัง ผลลัพธ์ และแนวทางการดำเนินงานของโครงการภายใต้แผนงาน IDEs โดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ แผนงานพัฒนาและส่งเสริมให้ประเทศเพิ่มธุรกิจฐานนวัตกรรม (Innovation Driven Enterprise: IDEs) ระหว่าง มหาวิทยาลัยทักษิณ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย กับ บริษัทที่ปรึกษา (iBDS) และผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม (IDEs)  และพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการไม่เปิดเผยข้อมูล (NDA) ระหว่าง อุทยานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยทักษิณ และบริษัทผู้ประกอบการ (IDEs)  ภายหลังมีการแนะนำบริษัทผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม (IDEs) 6 บริษัท หลังจากนั้นมีการชี้แจงการรับทุน Pre-TSU Move for Industry ปีที่ 2 โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สมัคร แก้วสุกแสง รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยทักษิณ และการ Share case  Pre-TSU Move for Industry: Success Cases ปีที่ 1  ติดตามด้วยกิจกรรม Workshop การจัดทำแผนกลยุทธ์ธุรกิจของแผนงาน IDEs โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นุกูล อินทระสังขา  ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยทักษิณ และ ดร.พุทธิวงศ์ เอื้อมหเจริญ   กรรมการบริหาร บริษัท เคดีอาร์ โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด  พร้อมทั้งการลงตรวจเยี่ยมพื้นที่ Site visit หน่วยงานพันธมิตรวิจัย มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้แก่ คณะวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมดิจิทัล (ชมการเพาะเลี้ยงฯ) คณะอุตสาหกรรมเกษตรและชีวภาพ และ คณะวิศวกรรมศาสตร์  และปิดท้ายด้วยกิจกรรม Dinner Talk and Networking Party ณ ห้องราชพฤกษ์ อาคารทักษิณาคาร มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง
.................................................

ข้อมูล : สถาบันวิจัยและนวัตกรรม , อุทยานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมสังคม
เรียบเรียง/ภาพข่าว : งานสื่อสารองค์กร สำนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ
#TSU #Innovation #Showcase #Industry  #Innovation #Driven  #Enterprise  #สถาบันวิจัยและนวัตกรรม #อุทยานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมสังคม