ม.ทักษิณ ห่วงใยใส่ใจสุขภาพบุคลากรและนิสิต ตรวจสอบคุณภาพอาหาร ของศูนย์อาหาร  มุ่งสร้างความปลอดภัยด้านสุขอนามัยผู้ใช้บริการ

ม.ทักษิณ ห่วงใยใส่ใจสุขภาพบุคลากรและนิสิต ตรวจสอบคุณภาพอาหาร ของศูนย์อาหาร มุ่งสร้างความปลอดภัยด้านสุขอนามัยผู้ใช้บริการ

23 ก.พ. 67 403

มหาวิทยาลัยทักษิณ ห่วงใยใส่ใจสุขภาพบุคลากรและนิสิต ตรวจสอบคุณภาพอาหาร ของศูนย์อาหาร มุ่งสร้างความปลอดภัยด้านสุขอนามัยผู้ใช้บริการ

เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 อาจารย์เสาวนีย์ โปษกะบุตร อาจารย์ประจำสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ คณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา ร่วมกับนิสิตสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ คณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา และคณะกรรมการบริหารจัดการสถานที่จำหน่ายอาหารและผู้ประกอบการ ดำเนินการตรวจสอบคุณภาพอาหาร อุปกรณ์ประกอบอาหาร และมือผู้สัมผัสอาหารด้วยวิธีตรวจเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียขั้นต้น (SI-2) ของสถานประกอบการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม จำนวน 22 ราย บริเวณโรงอาหารแห่งที่ 1 โรงอาหารแห่งที่ 3 และโรงอาหารหอพัก โรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยทักษิณ ฝ่ายมัธยม  ณ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง

อาจารย์เสาวนีย์ โปษกะบุตร ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การตรวจสอบดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบคุณภาพอาหาร สุขอนามัย ซึ่งจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยด้านสุขอนามัยให้แก่ผู้รับบริการ ตลอดจนเป็นการเพิ่มคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการสถานที่จำหน่ายอาหารปลอดภัยภายในมหาวิทยาลัยทักษิณ อีกด้วย

  

สำหรับโคลิฟอร์มแบคทีเรีย  (Coliform bacteria) เป็นกลุ่มแบคทีเรียแกรมลบสามารถเจริญเติบโตได้ดีในที่ที่มีอากาศและไม่มีอากาศ มักพบในสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับน้ำ หากพบว่ามีการเจือปนในน้ำดื่มมากเกินไปสามารถบ่งชี้ถึงความไม่สะอาดและไม่ถูกสุขลักษณะของแหล่งน้ำดื่มได้  แบคทีเรียชนิดโคลิฟอร์มส่วนใหญ่ไม่ใช่จุลินทรีย์ก่อโรค (non-pathogen) แต่เนื่องจากเป็นแบคทีเรียที่พบในดิน น้ำ และลำไส้ของสัตว์ที่ถูกขับถ่ายมาพร้อมกับอุจจาระ แม้ไม่ใช่แบคทีเรียที่เป็นตัวแทนความเสี่ยงต่อสุขภาพ แต่การพบแบคทีเรียกลุ่มนี้จำนวนมากในอาหาร สามารถชี้ชัดได้ว่ามีการปนเปื้อนจากดิน น้ำ หรืออุจจาระในกระบวนการผลิต และมีแนวโน้มตรวจพบ E.coli และจุลินทรีย์ก่อโรค รวมทั้งมีแนวโน้มจะพบจุลินทรีย์ก่อโรคอื่นๆ ที่ปนเปื้อนมาจากแหล่งเดียวกัน เช่น Salmonella spp., Shigella spp., Vibrio spp. เป็นต้น ดังนั้นปริมาณแบคทีเรียชนิดโคลิฟอร์ม (Total Coliform bacteria; TCB) จึงถูกนำไปใช้เพื่อบ่งชี้สภาพความไม่สะอาดในกระบวนการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม หรือเป็นดัชนี้ชี้สุขาภิบาลอาหาร (food sanitation) รวมถึงการนำมาใช้บ่งชี้คุณภาพน้ำและผลิตภัณฑ์จากนม

...................

ข้อมูล/ภาพ : เพจสำนักงานฝ่ายบริหารวิทยาเขตพัทลุง มหาวิทยาลัยทักษิณ, อาจารย์เสาวนีย์ โปษกะบุตร สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ คณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา
อ้างอิง : เว็บไซต์กองอาหารและยา กองอาหาร (moph.go.th)
เรียบเรียง : งานสื่อสารองค์กร สำนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ

#TSU  #โรงอาหาร  #อาหารปลอดภัย  #สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์  #คณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา  #Coliform bacteria #แบคทีเรีย  #มหาวิทยาลัยทักษิณ