แรงไม่หยุด ฉุดไม่อยู่ ม.ทักษิณ เดินหน้าลุยโครงการวิจัย มวยไทยเมืองลุง สู่ Soft Power

แรงไม่หยุด ฉุดไม่อยู่ ม.ทักษิณ เดินหน้าลุยโครงการวิจัย มวยไทยเมืองลุง สู่ Soft Power

24 มี.ค. 67 489

มหาวิทยาลัยทักษิณ นำทีมภาคีเครือข่ายประชุม ร่วมหาทิศทางเดินหน้าลุยโครงการวิจัย "มวยไทยเมืองลุง" มุ่งขับเคลื่อนทุนวัฒนธรรมเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน

ในวันศุกร์ ที่ 22 มีนาคม 2567 รองศาสตราจารย์ ดร.สมัคร แก้วสุกแสง รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม และคณะทำงานของมหาวิทยาลัยทักษิณ พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายในพื้นที่และภาคีเครือข่ายมวยไทยเมืองลุง ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน อาทิ วัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง สภาวัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง การกีฬาแห่งประเทศไทยจังหวัดพัทลุง สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดพัทลุง ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้ประกอบการค่ายมวย และครูมวยในจังหวัดพัทลุง ร่วมประชุมเพื่อหาทิศทางในการเดินหน้าโครงการวิจัย "มวยไทยเมืองลุง : พลังเครือข่ายแบบมีส่วนร่วมและการจัดการทุนวัฒนธรรมเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน"  ภายใต้การสนับสนุนจากกองทุน ววน. และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ณ ห้องประชุมทานตะวัน SC1218 คณะวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง และผ่านระบบออนไลน์ Zoom Meeting

บรรยากาศการประชุมเข้มข้นไปด้วยการปล่อยหมัดงัดไอเดียจากทุกภาคส่วนเพื่อแบ่งปัน เสนอแนะ และให้แนวทางการทำงานแก่กันและกัน รวมทั้งบอกเล่าข้อจำกัด จุดอ่อน จุดแข็งของแต่ละภาคส่วน มีการวางโจทย์ กำหนดเป้าหมาย ลงรายละเอียดของกิจกรรม และกระบวนการที่จะทำต่อ ๆ ไป อาทิ จัดอบรมผู้ฝึกสอนกีฬามวยไทยอาชีพระดับ A-, B- หรือ C-license และกำหนดเกณฑ์ในการจัดอันดับคุณภาพของนักกีฬามวยไทย ถ่ายทอดหลักสูตรมวยไทยขั้นพื้นฐาน รวมถึงบูรณาการหลักสูตรมวยไทยเมืองลุงเป็นรายวิชาเลือกในสถานศึกษา พัฒนาหลักสูตรมวยไทย คีตะมวยไทย และท่าทางการร่ายรำไหว้ครูของนักมวยไทยเมืองลุง พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรมมวยไทยเมืองลุง เช่น ยาสมุนไพรเพื่อป้องกัน บรรเทาอาการบาดเจ็บก่อนและหลังการชก น้ำมันนวดกล้ามเนื้อสำหรับนักมวย อุปกรณ์ฝึกทางวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์การกีฬา กางเกงมวย ประเจียด มงคล เสื้อคลุม รวมไปถึงของที่ระลึก ซึ่งอาจจะมีรูปแบบผสมผสานศิลปะมโนราห์เพื่อสร้าง อัตลักษณ์เฉพาะของ “มวยไทยเมืองลุง” อีกทั้งการผลักดันมวยไทยเมืองลุงให้อยู่ในโปรแกรมการท่องเที่ยว เป็นต้น กิจกรรมและกระบวนการต่างๆ เหล่านี้ ทำให้เห็นภาพ “ทิศทางเดิน” ของโครงการฯ และการเติบโตของทุนวัฒนธรรม “มวยไทยเมืองลุง” ในอนาคตชัดเจนขึ้นตามลำดับ ซึ่งแต่ละภาคส่วนต่างวางบทบาทกันตามความถนัดเพื่อเอื้อการทำงานแก่ภาคอื่น ๆ 


 

ทั้งนี้มหาวิทยาลัยทักษิณ ยืนหลักในการต่อยอดองค์ความรู้โดยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาพัฒนา ผนึกกำลังกับภาคประชาชน ไม่ว่าจะเป็นครูมวย นักมวย ผู้ประกอบการมวยไทยในจังหวัดพัทลุง รวมถึงศิลปิน เทรนเนอร์ และผู้สนใจ ซึ่งอยู่ในบทบาทผู้สืบทอดและต่อยอดองค์ความรู้ ในส่วนของภาครัฐและเอกชน มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันนโยบายเพื่อสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนทุนวัฒนธรรม “มวยไทยเมืองลุง” การดำเนินงานของโครงการฯ นี้ จึงเป็นความร่วมมือ และการรวมพลังภาคีเครือข่ายหลักทั้ง 3 ภาคส่วน ซึ่งเปรียบเสมือน “เชือกสามเกลียว” ที่เหนียวแน่น แข็งแรง ทรงพลัง ด้วยกระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วม มุ่งจัดการทุนวัฒนธรรม “มวยไทยเมืองลุง” โดยสร้างคุณค่า และขยายผลสู่มูลค่า เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน และยิ่งกว่านั้น คือการผลักดันให้ “มวยไทยเมืองลุง” กลายเป็น Soft Power ที่จะขับเคลื่อนและมีส่วนในมิติต่างๆ ทั้งสังคม เศรษฐกิจ ศิลปะวัฒนธรรม การศึกษา สุขภาพ การกีฬา และการท่องเที่ยว เป็นต้น

................................................
เรียบเรียง : งานสื่อสารองค์กร  สำนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ

#มวยไทย #มวยไทยเมืองลุง  #ศิลปะวัฒนธรรมพัทลุง #SoftPower #ภาคีเครือข่าย #มหาวิทยาลัยทักษิณ  #Glocalization #SDGs #TSUNEWS