เสียงทับ ปี่ ฆ้อง ก้องกระหน่ำ ค่ำคืนแห่งศาสตร์ศิลป์ ดินเเดนใต้  นิสิตเอกโนรา ม.ทักษิณ เปิดม่านการแสดง โนรา นำเสนอผลงานศิลปะการแสดงนิพนธ์

เสียงทับ ปี่ ฆ้อง ก้องกระหน่ำ ค่ำคืนแห่งศาสตร์ศิลป์ ดินเเดนใต้ นิสิตเอกโนรา ม.ทักษิณ เปิดม่านการแสดง โนรา นำเสนอผลงานศิลปะการแสดงนิพนธ์

29 มี.ค. 67 151

นิสิตชั้นปีที่ 4 วิชาเอกโนรา รุ่นที่ 15 คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ เปิดม่านการแสดงโนรา "รวมศาสตร์ศิลป์ ดินเเดนใต้" นำเสนอผลงานศิลปะการแสดงนิพนธ์ได้อย่างยิ่งใหญ่ ตระการตา 

ค่ำคืนของวันที่ 28 มีนาคม 2567 ณ หอประชุมปาริชาต มหาวิทยาลัยทักษิณ คลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่หลงใหลในศิลปะการแสดงโนรา บรรยากาศคึกคักด้วยเสียงทับ ปี่ กลอง ฆ้อง  ฉิ่ง แตระ และอบอวลไปด้วยความปลาบปลื้ม ชื่นชมยินดีของผู้ปกครอง ญาติ มิตร ของนิสิตชั้นปีที่ 4 วิชาเอกโนรา สาขาวิชาศิลปะการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ประจำปีการศึกษา 2566  งานนี้ได้รับเกียรติจากอาจารย์รัชกฤต ภานุอัครโชค รองคณบดีฝ่ายบริหารและสื่อสารองค์กร ตัวแทนคณบดีเป็นประธานเปิดโครงการ

   

การแสดงทั้ง 4 ชุด สะกดผู้ชมทั้งหอประชุมให้จดจ่ออยู่บนเวทีตลอด 2 ชั่วโมงแบบไม่ละสายตา ทุกท่วงท่า การรำ และการขับร้อง ผ่านกระบวนการศึกษา ค้นคว้า คิด วิเคราะห์ และสังเคราะห์ จนตกผลึกออกมาเป็นผลงานสร้างสรรค์เชิงอนุรักษ์และร่วมสมัย จากการสอบถาม สัมภาษณ์ พูดคุยกับผู้ชม รวมทั้งได้รับฟังคำติ ชม ชี้แนะของท่านคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ พบว่า สิ่งที่ทุกท่านเห็นพ้องต้องกัน คือ ผลงานทุกชุดล้วนงดงาม มีเอกลักษณ์ มีความตั้งใจ ใส่ใจ ที่ไม่ได้เป็นงานวิจัยเพียงเพื่อให้จบการศึกษา แต่มันคือผลงานของศิลปินตัวน้อย ที่จะค่อยๆ เติบโต เติบใหญ่อยู่ในเส้นทางโนรา เพื่อทำหน้าที่นักอนุรักษ์ ผู้สืบสาน สร้างสรรค์ “โนรา” ให้คงอยู่คู่ถิ่นด้ามขวาน

      

นิสิตเจ้าของผลงานได้บอกเล่าที่มาที่ไป และแนวคิดของผลงานทั้ง 4 ชุด ไว้อย่างหลากหลาย เริ่มกันที่ผลงานสร้างสรรค์เชิงอนุรักษ์ ชุด “โนราทำบท ชมดอกไม้ประจำ ๑๔ จังหวัดภาคใต้” เป็นการแสดงท่ารำในบทชมดอกไม้ประจำจังหวัดภาคใต้ 14 ดอก เน้นการทำบทโนราที่ได้ประพันธ์ขึ้นใหม่ เล่าถึงกลิ่น ความงดงาม และสรรพคุณของดอกไม้ เป็นรูปแบบที่คณะกรรมการชื่นชมเป็นเสียงเดียวกันว่า มีความถูกต้อง ครบถ้วนตามรูปแบบการรำโนราดั้งเดิม ทำให้ผู้ชมได้เห็นภาพลำดับการแสดงของโนรา 1 ชุด ที่มีทั้งการรำและขับร้อง เสน่ห์และความท้าทายคือการใช้ดนตรีสด ซึ่งสร้างสรรค์ผลงานโดยนางสาวจิราพร มะเดื่อ 

ผลงานสร้างสรรค์ ชุด “พ่ออ้ายหมา นางเมีย” นำเสนอวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในครอบครัวและบทบาทหน้าที่สามี ภรรยา บอกเล่าบทบาทความเป็นผู้นำ และการประกอบอาชีพทำนาของผู้ชาย รวมถึงความเป็นแม่ศรีเรือนของผู้หญิง ความโดดเด่นของผลงานชุดนี้ คือ สนุกสนาน ดูเพลิน ชวนให้ติดตาม คณะกรรมการให้คำชื่นชมไว้ว่า “หากเปรียบเป็นอาหาร นี่คือเมนูยอดนิยม เป็นผลงานสำหรับขึ้นห้าง ไม่ใช่ขึ้นหิ้ง” สร้างสรรค์ผลงานโดยนายปฏิพล ฤทธิภักดี และนางสาวกุลทัศวรรณ แก้วขาว

ผลงานสร้างสรรค์ ชุด “โนราทักษิณ” เป็นการแสดงโนราสร้างสรรค์เชิงอนุรักษ์ เกิดจากการคิดท่าของโนราดั้งเดิมไปเรียงร้อยให้เข้ากับบทเพลงที่สร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ ความโดดเด่นที่ไม่แพ้ท่ารำ คือ การออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยการใช้ผ้าปาเต๊ะ คลอเทียร์ สร้างสรรค์ผลงานโดยนายธนากร ชัยมนตรี

และผลงานสร้างสรรค์ ชุดสุดท้าย “พลังศรัทธากริชรวงข้าว” ที่ได้หยิบยกพิธีกรรมการทำขวัญข้าวมาถ่ายทอด ได้แรงบันดาลใจจากกริชลายรวงข้าว ที่ใช้ในพิธีกรรม นอกจากการสร้างสรรค์ศิลปะการแสดงโนรา ยังเป็นการอนุรักษ์วิถีชุมชนอีกด้วย สร้างสรรค์ผลงานโดยศิริพงศ์ ทองเสน และนางสาวชลธิชา อาชาฤทธิ์

นอกเหนือจากความสามารถที่ล้นเหลือของน้องๆ นิสิต มหาวิทยาลัยทักษิณ เรายังเห็นถึงความรักระหว่างเพื่อน พี่ น้องร่วมสถาบันที่ผูกพันกันแบบไม่มีขาดตอน พิธีกรสาวคนเก่งของงานก็เป็นรุ่นพี่ที่จบไปแล้ว รวมทั้ง 1 ในท่านคณะกรรมการ คือ อาจารย์ณัฐพล หวานนวล ก็เป็นศิษย์เก่าที่ยังคงรักและผูกพันกับรั้วปาริชาต การจัดงานก็ได้กำลัง และแรงสนับสนุนจากรุ่นน้อง ความงดงามเหล่านี้ได้สร้างความประทับใจแก่ผู้ชม พอๆกับที่ชื่นชมผลงานการแสดง นับเป็นอีกหนึ่งค่ำคืนที่อบอวนไปด้วยความรัก ความคึกคัก และอบอุ่นหัวใจ

 

................................................

 

เรียบเรียง : งานสื่อสารองค์กร  สำนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ

 

#การนำเสนอศิลปะการแสดงนิพนธ์ #เอกโนรา_รุ่นที่ ๑๕ #รวมศาสตร์ศิลป์ดินเเดนใต้ #ศิลปะการแสดงภาคใต้  #นาฏศิลป์พื้นบ้านภาคใต้ #โนรา #คณะศิลปกรรมศาสตร์ #glocalization #จากรากสู่โลก #มหาวิทยาลัยทักษิณ #ProundTSU #TSUNEWS