ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว เมื่อสาหร่ายเพื่อนรักจากลา...เจ้าปะการังจะอยู่กันอย่างไร

ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว เมื่อสาหร่ายเพื่อนรักจากลา...เจ้าปะการังจะอยู่กันอย่างไร

18 เม.ย. 67 130

ปะการังเป็นสัตว์ทะเลขนาดเล็กซึ่งดำรงชีวิตแบบพึ่งพาอาศัยร่วมกันกับสาหร่ายซูแซนเทลลี (zooxanthellae) โดยที่ตัวปะการังจะทำหน้าที่สร้างโครงร่างเป็นที่อยู่อาศัยให้สาหร่ายยึดเกาะ ส่วนสาหร่ายซูแซนเทลลีจะสังเคราะห์แสงแหล่งสารอาหารอาหาร และช่วยในการสร้างโครงร่างแข็งให้กับตัวปะการัง อันที่จริงแล้วตัวปะการังเป็นสัตว์ขนาดเล็กจิ๋ว กินอาหารโดยใช้ขนพัดโบกกรองแพลงก์ตอนพืชและสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ในน้ำกินเป็นอาหาร  ทั้งนี้ตัวปะการังเองไม่มีสีสันใดๆ แต่สีสวยสดใสที่ปรากฏบนโครงร่างแข็งของปะการังนั้นมาจากสีของสาหร่ายซูแซนเทลลีที่อาศัยอยู่ร่วมกันกับปะการังนั่นเอง เนื่องจากสาหร่ายต่าง ๆมีการสร้างรงควัตถุเพื่อการสังเคราะห์แสง และรงควัตถุของสาหร่ายนี่เองที่ทำให้เซลล์สาหร่ายปรากฏเป็นสีสันสวยงาม     

ปัญหาสำคัญอยู่ตรงประเด็นที่ว่า สาหร่ายซูแซนเทลลีชอบดำรงชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมจริงๆเท่านั้น หากปัจจัยสภาพแวดล้อมต่างๆ เช่น อุณหภูมิ ความเค็ม ตลอดจนคุณภาพน้ำด้านเคมี            และกายภาพอื่นๆ เปลี่ยนแปลงไปจากช่วงที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิต สาหร่ายซูแซนเทลลีก็จะตายลง ส่งผลให้สีสันสดใสของปะการังหายไปปรากฏอยู่แต่เพียงสีขาวของโครงสร้างแคลเซียมที่ปะการังสร้างไว้ เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “ปะการังฟอกขาว” เพราะเกิดการเปลี่ยนสีของปะการังจากสีสันสดใสต่างๆ กลายเป็นสีขาว จากข้อมูลที่มีรายงาน พบว่า หากสาหร่ายซูแซนเทลลีตายลงจนปะการังเปลี่ยนเป็นสีขาวแล้ว ตัวปะการังที่อาศัยอยู่ในโครงร่างแข็งนั้นจะยังสามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง แต่หากสาหร่ายซูแซนเทลลีไม่กลับมาอาศัยอยู่ร่วมกับตัวปะการังอีก ปะการังทั้งหมดก็จะตายลงในเวลาต่อมา 

จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในทะเลเป็นสาเหตุสำคัญทำให้สาหร่ายซูแซนเทลลีที่อาศัยอยู่ร่วมกับปะการังตายลงและเกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว ทั้งนี้ปัจจุบันอุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม การเคลื่อนตัวของกระแสน้ำอุ่นและน้ำเย็นในมหาสมุทรที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนปริมาณน้ำจืดที่ไหลลงในบริเวณชายฝั่งเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งปริมาณตะกอนในน้ำที่สูงขึ้นเป็นสาเหตุที่ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว หากไม่มีการแก้ไขปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมให้กลับสู่ช่วงที่เหมาะสมได้ ปะการังที่เกิดการฟอกขาวแล้วจะตายลงทั้งหมด และทำให้สูญเสียแนวปะการังดังกล่าวในระยะยาว

 

ขอขอบคุณ  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภฎา คีรีรัฐนิคม สาขาวิทยาศาสตร์การประมงและทรัพยากรทางน้ำ  คณะวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยทักษิณ
#TSUNews #WeTSU #Knowledgesharing #คณะวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมดิจิทัล #สถาบันวิจัยและนวัตกรรม #มหาวิทยาลัยทักษิณ #Science #Biodiversity #Ecology #SDGs