การประชุมวิชาการระดับชาติ "วิทยาศาสตร์วิจัย" ครั้งที่ 13 "วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำหรับชีวิตวิถีใหม่"

การประชุมวิชาการระดับชาติ "วิทยาศาสตร์วิจัย" ครั้งที่ 13 "วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำหรับชีวิตวิถีใหม่"

12 พ.ค. 65 1213
     วันที่ 12 พฤษภาคม 2565 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ จัดพิธีเปิดการประชุมวิชาการระดับชาติ “วิทยาศาสตร์วิจัย” ครั้งที่ 13 (13th Science Research Conference, SRC13) โดยได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นประธาน รศ.ดร.ชยันต์ บุณยรักษ์ ประธานที่ประชุมคณบดีคณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยในเครือเทางาม กล่าวต้อนรับ และกล่าวรายงานโดย ผศ.ดร.ธัญญา พันธ์ฤทธิ์ดำ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ พร้อมด้วยตัวแทนจากมหาวิทยาลัยในเครือเทางามเข้าร่วมเปิดงาน มีการปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม สำหรับชีวิตวิถีใหม่”โดย รศ.ดร.วรัญญู พูลเจริญ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และการบรรยาย “โอกาสและการพัฒนางานวิจัยทางพลาสติกชีวภาพ สำหรับชีวิตวิถีใหม่” โดย รศ.ดร.กนกพร สังขรักษ์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ณ ห้อง MF2200 อาคารเรียนรวม มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง
     การประชุมวิชาการระดับชาติ “วิทยาศาสตร์วิจัย” ครั้งที่ 13 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-13 พฤษภาคม พ.ศ.2565 โดยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นเจ้าภาพหลักจัดการประชุมวิชาการระดับชาติ “วิทยาศาสตร์วิจัย” ครั้งที่ 13 หรือ วิทย์วิจัย 13 (13th Science Research Conference, SRC13) ภายใต้แนวคิด “วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม สำหรับชีวิตวิถีใหม่”(Research and Innovation for the New Normal Life) ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ในเครือเทางาม ได้แก่ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อีกทั้งในปีนี้ ที่ประชุมคณบดีคณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยเครือเทางาม ได้กำหนดความร่วมมือในการเป็นเจ้าภาพร่วมกับสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาผลงานทางด้านวิชาการด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และยกระดับคุณภาพการศึกษาในมหาวิทยาลัยของรัฐ โดยมุ่งส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสถาบันการศึกษาและสร้างความสัมพันธ์ในการพัฒนาผลงานวิจัยร่วมกัน อนึ่งเพื่อเป็นเวทีให้กับนักวิจัย อาจารย์ ตลอดจนนิสิต ได้แสงผลงานทางวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักวิจัย นักวิชาการระดับประเทศ ในรูปแบบบรรยาย (Oral Presentation) และโปสเตอร์ (Poster Presentation) โดยแบ่งการนำเสนอออกเป็น 9 กลุ่มสาขา ได้แก่
     1. สาขาวิชาชีววิทยาและการประยุกต์ วิทยาศาสตร์การประมง วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์การเกษตร วิทยาศาสตร์สุขภาพ จุลชีววิทยา วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีชีวภาพ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหาร
     2. สาขาวิชาเคมี เคมีประยุกต์ และเคมีอุตสาหกรรม
     3. สาขาวิชาคณิตศาสตร์ คณิตศาสตร์ประยุกต์ สาขาวิชาสถิติ
     4. สาขาวิทยาศาสตร์ศึกษา และคณิตศาสตร์ศึกษา
     5. สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ วิทยาการข้อมูล
     6. สาขาวิชาฟิสิกส์ พลังงาน และวัสดุศาสตร์
     7. สาขาวิชาวิทยาศาสตร์นวัตกรรมเชิงพาณิชย์
     8. Routine to Research สายสนับสนุนเครือเทางาม
     9. การนำเสนอแบบบรรยายของนิสิตในเครือเทางาม Research to Market(R2M)
     ในการประชุมฯ ครั้งนี้ได้รับความสนใจจากนักวิชาการ และนิสิต นักศึกษาจากทั่วประเทศเข้าร่วมงานจำนวนกว่า 483 คน และมีผลงานวิจัยเข้าร่วมนำเสนอทั้งสิ้น 267 ผลงาน แบ่งเป็นรูปแบบบรรยาย 142 ผลงาน และรูปแบบโปสเตอร์ จำนวน 125 ผลงาน โดยในแต่ละสาขามีการพิจารณาและมอบรางวัลให้แก่ผู้ที่มีการนำเสนอผลงานวิจัยดีเด่นอีกด้วย